ความต้องการหอยเป๋าฮื้อในเอเชียกระทบสิ่งแวดล้อม-ดันการลักลอบค้าสัตว์แอฟริกาใต้

  • VOA

Packaged abalone by Abagold

หอยเป๋าฮื้อถูกมองว่าเป็นอาหารที่หรูสำหรับคนในประเทศจีนมาตั้งแต่สมัยที่ประเทศถูกปกครองโดยจักรพรรดิ แต่ความต้องการของตลาดสำหรับเนื้อหอยราคาแพงนี้ทำให้เกิดการลักลอบจับหอยเป๋าฮื้อในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติขนาดใหญ่ของแอฟริกาใต้ จนส่งผลให้ประชากรหอยเป๋าฮื้อของประเทศนี้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีจำนวนมากกลับลดลงอย่างรวดเร็ว

Abalone farm in Hermanus, South Africa

เมืองเฮอร์มานุส ที่ตั้งอยู่นอกเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นที่รู้จักในนามเมืองท่องเที่ยงแห่งขึ้นชื่อเรื่องทิวทัศน์ทะเลที่สวยงามและสัตว์น้ำจำพวกวาฬหลังค่อม และในอดีต เมืองนี้ยังเคยเป็นแหล่งที่อยู่อันอุดมสมบูรณ์ของหอยเป๋าฮื้อตามธรรมชาติด้วย

Abagold company

แต่ปัจจุบัน ประชากรหอยสายพันธุ์ดังกล่าวได้ร่อยหรอลงอย่างมาก จนทำให้มีการทำฟาร์มเพาะพันธุ์อย่างถูกกฎหมาย ทั้งเพื่อการส่งออกและการเพาะพันธุ์เพื่อนำลูกของหอยเป๋าฮื้อบางส่วนปล่อยคืนสู่ท้องทะเล

Inside an abalone farm in Hermanus, South Africa

คาเบโล มันยามา เป็นผู้จัดการศูนย์เพาะหอยเป๋าฮื้อของบริษัท Abagold ที่ตั้งอยู่ในเมืองเฮอร์มานุส และเล่าให้ วีโอเอ ฟังเกี่ยวกับความผูกพันระหว่างตัวเธอกับหอยหายากเหล่านี้

มันยามา บอกว่า “ถ้าจะให้กินหอยเหล่านี้ คงเป็นเรื่องยาก เพราะเลี้ยงมาแต่เด็ก ฉันคงกินมันไม่ลง”

ฟาร์มที่ มันยามา ทำงานอยู่นั้นเป็นผู้ผลิตหอยเป๋าฮื้อเพื่อส่งออกไปยังตลาดเอเชียเป็นหลักเพราะเป็นตลาดอาหารจีนที่ทำราคาสินค้าได้ดีมาก โดยมีประเทศจีน รวมถึงฮ่องกง เป็นตลาดใหญ่ของการส่งออกที่มีการซื้อขายหอยเป๋าฮื้อขนาดใหญ่ได้สูงถึงประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อตัว

เอนเวอร์ แมนเชสต์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินบริษัท Abagold บอกกับ วีโอเอ ว่า “สำหรับตลาดเอเชีย หอยเป๋าฮื้อรู้จักกันในชื่อของ ทองคำขาว และเมื่อเราสังเกตลักษณะของหอยเป๋าฮื้อแห้ง ภายนอกจะมีรูปลักษณ์ที่คล้ายกับเงินตำลึงจีน ทำให้หอยเป๋าฮื้อกลายเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งมี เจริญรุ่งเรือง”

จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจอันมีมูลค่ามหาศาลนี้ดึงดูดเหล่านักลักลอบค้าสัตว์ป่าให้พยายามเข้ามากอบโกยเงินจากความต้องการเป๋าฮื้อจากเอเชียได้ไม่ยาก

Enver Manchest, Abagold Chief Financial Officer, Abagold

และจากในอดีตที่แนวชายฝั่งของแอฟริกาใต้มีหอยเป๋าฮื้อเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน ประชากรเป๋าฮื้อที่ถูกลักลอบจับไปหดหายหนักจนถึงระดับที่หลายฝ่ายกังวลว่า หอยเป๋าฮื้อตามธรรมชาติอาจจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้านี้ได้

และแม้ว่า แอฟริกาใต้จะห้ามการจับหอยเป๋าฮื้อที่อยู่ในธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต คิมอน เด กรีฟ นักวิจัยการค้าหอยเป๋าฮื้อแบบผิดกฎหมาย ชี้ว่า ยังคงมีการลักลอบแอบจับอย่างต่อเนื่อง

Live abalone

เด กรีฟ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ราคาของหอยเป๋าฮื้อในตลาดมืดปรับตัวสูงเป็นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า มีความต้องการหอยเป๋าฮื้อเป็นจำนวนมาก และตลาดกำลังเติบโต

เด กรีฟ กล่าวเสริมด้วยว่า ธุรกิจการค้าหอยเป๋าฮื้อแบบผิดกฎหมายที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์นั้นเป็นฝีมือขององค์กรอาชญากรรมในแอฟริกาใต้นี่เอง โดยองค์กรเหล่านี้ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบขนคนเข้าเมืองหรือการค้ามนุษย์ รวมถึงการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ โดยที่ผ่านมา มีการยึดหอยเป๋าฮื้อแห้ง พร้อมกับชิ้นส่วนของสัตว์ป่า อย่างเช่น นอแรด และงาช้าง มาบ้างแล้ว

ความต้องเป๋าฮื้อจากเอเชียไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้ปัญหาอาชญากรรมมีความซับซ้อนขึ้นเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในท้องถิ่นด้วย

แยนนี มัลเฮอบา เจ้าของร้านอาหารท้องถิ่น เล่าว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ชาวบ้านสามารถจับหอยเป๋าฮื้อได้ตามอิสระ แต่ปัจจุบัน คนในพื้นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำน้ำลงไปเก็บหอยเป๋าฮื้อมาบริโภคอีกต่อไป

Jannie Malherbe, Restaurant Owner, South Africa

มัลเฮอบา กล่าวว่า ในเวลานี้ ชาวแอฟริกาใต้ไม่สามารถจับหอยเป๋าฮื้อได้ และส่วนใหญ่หรืออาจจะพูดได้ว่าทั้งหมดถูกส่งไปยังประเทศจีนแล้ว

Abalone served at a restaurant

ทุกวันนี้ สิ่งที่มัลเฮอบา พยายามทำก็คือ การรังสรรค์เมนูจากหอยเป๋าฮื้อที่ได้มาจากฟาร์มท้องถิ่นเพื่อให้วัตถุดิบหายากนี้ปรากฏอยู่ในจานอาหารมาขึ้นและกลับมาเป็นที่นิยมของชาวแอฟริกาใต้อีกครั้ง

  • ที่มา: วีโอเอ