ฟอสซิลปลาจากจีนช่วยนักวิจัยเข้าใจวิวัฒนาการฟันของสัตว์น้ำโบราณ

PECES FÓSILES

การค้นพบซากฟอสซิลปลาจำนวนมากในพื้นที่ทางตอนใต้ของจีนเมื่อไม่นานมานี้มาพร้อมกับอวัยวะฟันที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดนับตั้งแต่มีการศึกษาสิ่งชีวิตโบราณา และอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจที่มาที่ไปของวิวัฒนาการด้านการใช้ฟันและกรามของสัตว์น้ำบนโลกนี้ได้ดีขึ้น

การศึกษาจำนวน 4 ชุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ช่วงปลายเดือนกันยายน บอกกล่าวถึงรายละเอียดการค้นพบของนักวิจัยเกี่ยวกับฟอสซิลจากยุคสำคัญของการวิวัฒนาการของฟันสัตว์น้ำ ซึ่งได้มาจากฟันปลาโบราณ รวมทั้งสัตว์สายพันธุ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ฟอสซิลเหล่านี้มาจากยุคไซลูเรียน (Silurian) หรือมีอายุราว 443 ล้านปี ถึง 419 ล้านปี ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว บรรพบุรุษของสัตว์ประเภทมีกระดูกสันหลังที่ใช้ชีวิตบนดาวที่เต็มไปด้วยน้ำน่าที่จะเริ่มมีพัฒนาการของการใช้ฟันและกราม

Fossil Fish

ฟิลิป โดโนฮิว นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งบริสตอล ประเทศอังกฤษ และเป็นผู้เขียนส่วนหนึ่งของการศึกษานี้ กล่าวว่า การเริ่มใช้ฟันและกรามทำให้ปลาเปลี่ยนพฤติกรรมการหาอาหาร จากที่คอยตอดหาเศษจากพื้นโคลน สู่การออกล่าเหยื่อ อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพอีกหลายอย่าง เช่น ครีบปลาในลักษณะต่าง ๆ ซึ่ง โดโนฮิว กล่าวว่า “มันเป็นช่วงจุดเชื่อมต่อของโลกเก่าและโลกใหม่”

แมตต์ ฟรีดแมน นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้พบเจอซากฟอสซิลที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการนี้มากนัก และต้องพึ่งพาข้อมูลจากการปะติดปะต่อชิ้นส่วนของปลาที่ค้นพบจากยุคดังกล่าวเป็นหลัก

มิน จู นักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบัน Chinese Academy of Sciences ประเทศจีน ระบุในอีเมล์ที่ส่งถึง เอพี ว่า การค้นพบฟอสซิลชุดดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2019 หลังทีมนักวิจัยลองสำรวจกองหินที่อยู่ใกล้หน้าผาริมถนนแห่งหนึ่ง และเมื่อเจาะหินดังกล่าวออกก็พบหัวของซากปลาฟอสซิลอยู่ภายใน ทีมวิจัยจึงตัดสินใจคนย้ายก้อนหินบริเวณนั้นกลับไปยังห้องแล็บเพื่อทำการตรวจสอบ ก่อนจะพบว่า มีฟอสซิลในสภาพดีเยี่ยมสำหรับซากจากยุคเก่าแก่ขนาดนั้นเป็นจำนวนมาก

Fossil Fish

เดอร์ เอริค อาห์ลเบิร์ก จากมหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน หนึ่งในผู้เขียนรายงาน อธิบายว่า สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ ปลาที่มีรูปร่างคล้ายบูมเมอแรงตัวเล็ก ๆ ที่น่าจะใช้กรามของพวกมันตักหนอนขึ้นมาเป็นอาหาร

ส่วน ฟิลิป โดโนฮิว นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งบริสตอล กล่าวถึงฟอสซิลอีกชิ้นหนึ่งที่มีแสดงให้เห็นถึงลักษณะของสิ่งมีชีวิตคล้ายฉลามและมีกระดูกเป็นเกราะอยู่ด้านหน้า ซึ่งเป็นการผสมผสานที่พบกันไม่บ่อยนัก โดยฟอสซิลของปลาที่ไม่มีกรามและอยู่ในสภาพดีนั้นช่วยให้เบาะแสว่า ปลาโบราณพัฒนาครีบให้กลายเป็นแขนและขาได้อย่างไร

ทั้งนี้ โดโนฮิว ชี้ว่า การพบฟอสซิลหัวปลานั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ฟอสซิลที่มีในส่วนของลำตัวด้วยนั้นเป็นการค้นพบที่เกิดขึ้นได้ยากมาก

ส่วน มิน จู นักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบัน Chinese Academy of Sciences เสริมว่า นักวิจัยยังพบกระดูกของปลาที่เรียกว่า “ฟันรูปขดก้นหอย” ที่มีฟันจำนวนหลายซี่งอกขึ้นในนั้นด้วย โดยเป็นฟอสซิลที่มีอายุของฟันที่เก่ากว่าฟันปลาของทุกสายพันธุ์ที่เคยค้นพบถึง 14 ล้านปี และนับเป็นหลักฐานของกรามสัตว์น้ำที่เด่นชัดที่สุดเท่ามนุษย์เคยขุดพบมา

Fossil Fish

อลิซ คเลเมนท์ นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า การค้นพบฟอสซิลดังกล่าว ถือว่า “น่าทึ่งเป็นอย่างมาก” และอาจที่จะเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องยุคสมัยได้ด้วย

คเลเมนท์ ชี้ด้วยว่า ฟอสซิลที่หลากหลายแสดงให้เห็นว่า ณ เวลานั้น สิ่งมีชีวิตที่มีฟันจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นน้ำ ก่อนที่จะถึงช่วงเวลาต่อมาที่ได้ชื่อว่า เป็น "ยุคของปลา" ก็ตาม

  • ที่มา: เอพี