สหรัฐฯ ส่งผู้อพยพไปคุกอ่าวกวนตานาโม

แฟ้ม: นาวิกโยธินสหรัฐฯ มุ่งหน้าไปยังฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่อ่าวกวนตานาโม ซึ่งเตรียมรับผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก กำลังเดินไปยังเครื่องบิน C-130 เฮอร์คิวลิส ในเมืองแจ็กสันวิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา 1 ก.พ. 2025 (U.S. Marine Corps/Cpl. Noela Vazquez/Handout via REUTERS)

เครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ ส่งผู้อพยพล็อตแรกที่ถูกขับออกจากประเทศไปยังอ่าวกวนตานาโม เมื่อวันอังคาร ตามการเปิดเผยของทางการสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หมายตาเรือนจำที่อ่าวกวนตานาโมเป็นศูนย์ควบคุมตัวผู้อพยพ และเป็นสถานที่รองรับผู้คนได้สูงสุด 30,000 คน

พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปยังคุกอ่าวกวนตานาโม เรียกสถานที่นี้ว่าเป็น “พิกัดที่เหมาะสม” สำหรับผู้อพยพ และมีทหารสหรัฐฯ เดินทางไปเตรียมการในเรื่องนี้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

ด้านเอมี ฟิชเชอร์ ผู้อำนวยการโครงการสิทธิผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ จาก Amnesty International USA ออกประณามการใช้คุกกวนตานาโมเป็นที่พักพิงของผู้อพยพ โดยกล่าวว่า “เป็นการดำเนินการที่โหดร้าย ค่าใช้จ่ายสูง จะเป็นการตัดขาดพวกเขาจากทนาย ครอบครัว และระบบที่ให้การสนับสนุน โยนพวกเขาเข้าไปในหลุมดำเพื่อที่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่มีใครรับรู้”

Your browser doesn’t support HTML5

สหรัฐฯ ส่งผู้อพยพไปคุกอ่าวกวนตานาโม

เมื่อวันจันทร์มาจนถึงวันอังคาร สหรัฐฯ ส่งตัวชาวอินเดียกลับประเทศ โดยข้อมูลจาก Pew Research Center พบว่ามีชาวอินเดียมากกว่า 725,000 คนที่พำนักในสหรัฐฯ โดยปราศจากเอกสารเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากเม็กซิโก และเอลซัลวาดอร์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังส่งผู้อพยพจากเอกวาดอร์ กวม ฮอนดูรัส และเปรูกลับภูมิลำเนาไปแล้วเช่นกัน ส่วนกรณีของโคลอมเบีย ได้นำเครื่องบินมารับผู้อพยพกลับบ้านแล้วจำนวนหนึ่ง

เรือนจำที่อ่าวกวนตานาโม หรือ “กิตโม” ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยสัปดาห์ที่แล้วว่าจะใช้คุกแห่งนี้รองรับคนเข้าเมืองผิดกฎหมายหลายหมื่นคนจากสหรัฐฯ

คุกอ่าวกวนตานาโม ใช้ขังใคร?

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ตั้งศาลทหารและเรือนจำที่ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ณ อ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบา หลังเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 หรือ 9/11 ที่นำไปสู่สงครามต่อต้านผู้ก่อการร้าย

ในช่วงหนึ่ง มีนักโทษที่เรือนจำอ่าวกวนตานาโมเกือบ 800 คน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และขณะนี้ยังมีนักโทษถูกคุมขัง 15 คน รวมทั้ง คาลิด ชีค โมฮัมเหม็ด ผู้ต้องหาวางแผนโจมตี 9/11

บางส่วนของคุกแห่งนี้ยังถูกใช้กักขังคนเข้าเมืองผิดกม.มานานหลายสิบปีแล้วภายใต้ชื่อ “ศูนย์กักกันผู้อพยพ” ซึ่งแยกต่างหากจากเรือนจำหลัก ส่วนใหญ่เป็นชาวเฮติและคิวบาผู้ลักลอบเข้าสหรัฐฯ ทางเรือ

ใครจะถูกนำมาคุมขังที่นี่?

คนที่จะถูกคุมขังที่นี่ คือ ผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายที่รัฐบาลทรัมป์เรียกว่า “คนต่างด้าวต้องคดีร้ายแรงที่สุด” พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเรือนจำนี้ให้พร้อมสำหรับคนต่างด้าวหลายหมื่นคน

ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนบอกว่าจะใช้คุกแห่งนี้คุมขัง “ผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง” และ “ผู้ที่ยากจะเนรเทศ” เนื่องจากมีหลายประเทศที่ไม่ยอมรับผู้อพยพบางส่วนกลับไป ซึ่งคาดว่ามีจำนวนราว 30,000 คน

คิวบามีท่าทีอย่างไร?

สหรัฐฯ เช่าอ่าวกวนตานาโมจากคิวบามานานกว่า 100 ปี ซึ่งคิวบาต้องการยกเลิกข้อตกลงนี้

ปธน.คิวบา มิเกล ดิอาซ-คาเนล กล่าวถึงแผนส่งคนต่างด้าวจากสหรัฐฯ มาคุมขังที่นี่ว่าเป็น “การกระทำที่ป่าเถื่อน” และว่าเรือนจำแห่งนี้ตั้งอยู่อย่างผิดกฎหมายในดินแดนของคิวบา

รัฐมนตรีต่างประเทศคิวบา บรูโน รอดริเกซ กล่าวว่า การคุมตัวผู้อพยพที่อ่าวกวนตานาโมที่ซึ่งเต็มไปด้วยการทำทารุณและการจองจำอย่างไม่มีกำหนด คือการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

  • ที่มา: เอพี