กลุ่มสถาบันการเงินรวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศเรียกร้องให้ชาติต่างๆ ร่วมกันแก้ปัญหาอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจโลกกลับเข้าดุลยภาพได้อีกครั้งหนึ่ง

  • William Ide
    Jim Randle
    Nittaya Maphungphong

กลุ่มสถาบันการเงินรวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศเรียกร้องให้ชาติต่างๆ ร่วมกันแก้ปัญหาอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจโลกกลับเข้าดุลยภาพได้อีกครั้งหนึ่ง

กำลังมีความวิตกกังวลกันมากขึ้นเกี่ยวกับการที่หลายประเทศเข้าแทรกแซงตลาดการเงินเพื่อควบคุมค่าเงินของตนมิให้สูงขึ้น นักเศรษฐศาสตร์บางรายกล่าวว่า อาจจะเกิด “สงครามค่าเงิน” หรือ “currency war” ขึ้นก็ได้ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Institute of International Finance บอกว่า ความเห็นข้างต้นอาจจะเกินความเป็นจริง แต่ก็ยอมรับว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ขณะเดียวกันชาติตะวันตกกำลังกดดันให้จีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนเป็นไปตามกลไกตลาด โดยกล่าวหาว่าการที่จีนคุมค่าเงินของตนไว้ต่ำ ทำให้สินค้าส่งออกของจีนได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก

ในขณะที่ประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังใช้ความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงสองปีที่ผ่านมา เวลานี้ กำลังมีความวิตกกังวลกันมากขึ้นเกี่ยวกับการที่หลายประเทศเข้าแทรกแซงตลาดการเงินเพื่อควบคุมค่าเงินของตนมิให้สูงขึ้น นักเศรษฐศาสตร์บางรายถึงกับกล่าวว่า อาจจะเกิด “สงครามค่าเงิน” หรือ “currency war” ขึ้นก็ได้

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรปเพิ่มความกดดันเร่งเร้าเพื่อจะให้จีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนสูงขึ้นตามกลไกตลาด ในขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล และสวิสเซอแลนด์ เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อควบคุมค่าเงินของตนมิให้สูงขึ้น หลายประเทศหันไปใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อควบคุมค่าเงินของตน ก็เพราะเมื่อค่าเงินอ่อนตัว สินค้าส่งออกของตนจะแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลก

จีนถูกกล่าวหามานานแล้วว่า คุมค่าเงินของตนไว้ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น ทำให้ได้เปรียบผู้ส่งออกในประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐ และในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของบราซิลกล่าวเตือนว่า โลกตกอยู่ในภาวะ “สงครามค่าเงินระหว่างประเทศ” แล้ว นาย Gordon Chang คอลัมน์นิสต์ของนิตยสาร Forbes ให้ความเห็นว่า ถ้าจีนยังคงคุมค่าเงินหยวนต่อไป และประเทศอื่นๆทำตาม ในที่สุดแล้วระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างเสรีก็จะถึงจุดจบ

นักเขียนผู้นี้มองเห็นว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น อาจทำให้เกิดสงครามค่าเงินตราครั้งใหญ่ โดยชาติต่างๆหันมาใช้นโยบายเอารัดเอาเปรียบประเทศคู่ค้า เหมือนกับสงครามภาษีนำเข้าในสมัยคริสต์ทศวรรษ 1930

ส่วนนาย Phil Suttle นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ Institute of International Finance บอกว่า ความเห็นข้างต้นอาจจะเกินความเป็นจริง แต่ก็ยอมรับว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นเช่นนั้นได้

ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และเจ้าหน้าที่อาวุโสทางการเงินของประเทศสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และธนาคารโลก กำลังรวมตัวกันที่กรุงวอชิงตันสำหรับการประชุมใหญ่ร่วมกันของสองสถาบันในสัปดาห์นี้

นาย Olivier Blanchard นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ IMF ให้ความเห็นว่า แม้การฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกจะยังเปราะบาง และไม่เสมอหน้ากัน แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะกลับไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีก นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้เร่งเร้าให้ประเทศทั้งที่เจริญแล้ว และที่กำลังจะก้าวขึ้นมาดำเนินมาตรการที่แข็งขัน โดยเฉพาะประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าจำนวนมหาศาล อย่างจีน ควรจะกระตุ้นความต้องการภายในประเทศด้วยการปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลงสำหรับผู้บริโภคในประเทศจีน นักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวว่า นโยบายเรื่องค่าเงินในปัจจุบันของจีนบิดเบือนพลังทางเศรษฐกิจ และส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตในประเทศ

นาย Olivier Blanchard นักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวว่า การบิดเบือนดังกล่าวทำให้ระดับการบริโภค และการลงทุนต่ำเกินไป ทำให้สวัสดิการลดลง การกำจัดสภาพบิดเบือนดังกล่าวจะช่วยให้มีการลงทุนสูงขึ้น ทำประโยชน์ให้กับประเทศได้มากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ผู้นี้กล่าวเตือนประเทศพัฒนาแล้วไว้ด้วยว่า นอกจากจะต้องมีแผนระยะกลางสำหรับลดภาระหนี้สิน โดยเฉพาะที่มาจากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ประเทศเหล่านี้ยังต้องปฏิรูประบบการเงินของตนให้ได้อย่างรวดเร็วและแข็งขันด้วย