Your browser doesn’t support HTML5
ในยุคที่ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ดูเหมือนจะท่วมท้นจากแหล่งที่หลากหลายโดยเฉพาะจากสื่อออนไลน์และจากการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดบิดเบือนทั้งจากเจตนาหรือจากความไม่จงใจก็ตาม
การหาข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้จึงเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น
ดังที่คุณจอห์น เกเบิ้ล ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของเว็บไซต์ Allsides.com ได้ตั้งข้อสังเกตว่าโดยธรรมชาติแล้วเราทุกคนล้วนมีอคติหรือความลำเอียงอยู่ในตัว คือมีความโน้มเอียงที่จะคิดหรือเชื่อตามข้อมูลที่ได้รับ ตามประสบการณ์ที่เคยสัมผัส และจากการตีความทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ รวมทั้งจากสิ่งที่เราอาจไม่รู้หรือไม่เข้าใจด้วย และเรื่องนี้จะยิ่งเป็นปัญหาโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สำคัญหรือสำหรับเรื่องสำคัญบางอย่างซึ่งมีข่าวสารข้อมูลให้เลือกมากมายและบางครั้งข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ถูกต้องเสมอไปไม่ว่าจะเป็นผลจากเจตนาการเผยแพร่ข้อมูลที่ปิดเบือนหรือก็ตาม
คุณจอห์น แซนด์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเรียนรู้และผลกระทบของ Knight Foundation ชี้ว่าในขณะนี้ 80% ของคนอเมริกันมีความกังวลว่าข้อมูลที่ถูกบิดเบือนจะส่งผลต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นได้ และจากปัญหาซึ่งมาจากข่าวปลอมหรือจากการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนหรือแม้กระทั่งข้อมูลที่จงใจถูกเลือกมาอย่างไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่ตรงกับบริบทที่ควรจะเป็นนั้น ขณะนี้ก็มีธุรกิจด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อย่างน้อยสองรายที่พยายามให้เครื่องมือเพื่อช่วยให้ผู้รับสารสามารถเปรียบเทียบและแยกแยะข้อมูลเหล่านี้ได้ดีขึ้น
คุณฮาร์ลีน คอร์ ซีอีโอของ Ground News เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามช่วยให้ผู้รับข่าวสารตัดสินใจได้ว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นถูกต้องหรือถูกบิดเบือนหรือไม่ โดย Ground News เป็นแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ที่อาจจะเรียกว่าเป็นแพลตฟอร์มแห่งแรกของโลกซึ่งช่วยเปรียบเทียบเนื้อหาของการรายงานข่าวด้วยการประมวลแหล่งที่มาของการรายงานเรื่องเดียวกันให้ผู้รับสารได้เปรียบเทียบ ทั้งยังมีการจำแนกและระบุจุดยืนของแต่ละสื่อให้ผู้รับสารได้พิจารณาประกอบด้วยตั้งแต่แนวซ้ายจัดจนถึงขวาจัด
ตัวอย่างเช่น Ground News จัดให้นิตยสาร The New Yorker และ NBC อยู่ในกลุ่มซ้ายหรือแนวก้าวหน้า ระบุว่า CNN และหนังสือพิมพ์ Los Angeles Times เป็นประเภทค่อนไปทางซ้าย ส่วนหนังสือพิมพ์ USA Today, CBS News กับ Al Jazeera นั้นอยู่ในประเภทกลางๆ ขณะที่หนังสือพิมพ์ Daily Mail ของอังกฤษกับสื่อ Fox News ของสหรัฐฯ เป็นประเภทสื่อกลุ่มขวาหรือแนวอนุรักษ์นิยมเป็นต้น
ในทำนองเดียวกันเว็บไซต์ Allsides.com ก็เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่ช่วยระบุจุดยืนหรือแนวคิดทางการเมืองของสื่อว่าเป็นประเภทใด เช่น แนวอนุรักษ์นิยม แนวก้าวหน้า หรือแนวกลางๆ เพื่อให้ผู้รับสารนำไปประกอบการพิจารณาด้วยเช่นกัน
แต่ขณะที่แพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ อาจช่วยให้ผู้รับข่าวสารเปรียบเทียบเนื้อหารวมทั้งแง่มุมการนำเสนอว่ามีสาระแตกต่างกันอย่างไรเพื่อการตัดสินใจด้วยตนเองได้นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ซาเมียร์ พาติลของมหาวิทยาลัยอินเดียนาผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้ใช้สื่อได้แนะว่า แม้การช่วยทำเรทติ้งสื่อผู้รายงานเนื้อหาต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลจากภายนอกนั้นอาจจะช่วยเรื่องการเปรียบเทียบและแยกแยะข้อมูลได้ส่วนหนึ่งก็ตาม
แต่ที่สำคัญมากกว่าคือการตั้งคำถามด้วยตัวเองก่อนที่จะปักใจเชื่อหรือแบ่งปันส่งต่อข้อมูลที่ได้รับออกไป โดยคำถามที่ว่านี้อาจจะเริ่มจากข้อสงสัยว่าข่าวชิ้นนี้มีโอกาสเป็นจริงได้หรือไม่ และมีเหตุผลปัจจัยอื่นใดหรือไม่ที่จะทำให้เรื่องที่เราเห็นอยู่ ไม่ว่าจากทางสื่อกระแสหลักหรือสื่อสังคมออนไลน์นี้ เป็นเรื่องที่ไม่จริง