Your browser doesn’t support HTML5
วันนี้คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ ร่วมกลั่นกรอง นายคริสโตเฟอร์ เวรย์ (Christopher Wray) ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เป็นผู้อำนวยการหน่วยงานสืบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่วุฒิสภาจะลงมติรับรองการรับตำแหน่งของเขาในลำดับถัดไป
นายคริสโตเฟอร์ เวรย์ อดีตทนายความวัย 50 ปี ที่เคยมีลูกความเป็นบริษัทขนาดใหญ่ขึ้นตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการยุติธรรม เรื่องจุดยืนของเขาเกี่ยวกับการสืบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว
หากดูประวัติของนายเวรย์ คงไม่แปลกใจถึงความชำนาญในการตอบคำถามของเขาที่เกี่ยวกับกระบวนการรักษากฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของเอฟบีไอ
อดีตทนายผู้นี้ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเยล และเรียนต่อปริญญาด้านกฎหมาย จนจบในปี ค.ศ. 1992 จากนั้นเขาทำงานเป็นทนายที่นครแอตแลนต้า เมืองบ้านเกิด
ในเวลาต่อมา เขาทำงานเป็นอัยการรัฐบาลกลางที่แอตแลนต้าอีก 8 ปี และเข้าร่วมงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสที่กระทรวงยุติธรรมในกรุงวอชิงตันหลังจากนั้น
เมื่อปี ค.ศ. 2003 อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรียุติธรรม แผนกคดีอาญา ในช่วงดังกล่าวเขาจึงกลายเป็นลูกน้องนายเจมส์ โคมีย์ ซึ่งในตอนนั้นเป็นผู้บริหารอันดับสองของกระทรวงยุติธรรม ก่อนที่นายโคมีย์จะขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการเอฟบีไอ และโดนไล่ออกโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ในเดือนพฤษภาคม
นายเวรย์ เคยควบคุมงานสืบสวนบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ Enron ที่กิจการพังครืนลงเนื่องจากการบิดเบือนทางบัญชี และปัญหาคอร์รัปชั่นของผู้บริหาร
คนในวงการยุติธรรมกล่าวว่า คริสโตเฟอร์ เวรย์ ยังเชี่ยวชาญเรื่องคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้วย และมีส่วนในงานสืบสวนหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 11 กันยายน เมื่อ 16 ปีก่อน
ครั้งนั้น อยู่ในยุคของ อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช และคริสโตเฟอร์ เวรย์ ต้องทำหน้าที่ให้เหตุผลปกป้องกฎหมาย Patriot Act ที่ถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน จากนั้นไม่นานเขากลับมาเป็นทนายที่บริษัท King and Spalding ซึ่งเป็นบริษัทที่เขาเริ่มงานในตอนต้นที่นครแอตแลนต้า
เขามีส่วนในการช่วยบริษัทขยายกิจการในกว่า 17 ประเทศ รวมถึงรัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
วันนี้ในช่วงการถูกไต่ถามจากคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ เขาพูดถึงหน้าที่ที่รออยู่ในฐานะว่าที่ผู้อำนวยการเอฟบีไอ ว่าตนจะยึดในความเป็นอิสระขององค์กร และยึดมั่นในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ รวมถึงเชื่อมั่นศรัทธาในมาตรฐานสูงสุดของเอฟบีไอ
วุฒิสมาชิก แพทริค เลฮี ของพรรคเดโมแครต ถามนายเวรย์ว่า หากประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งให้เขาทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายและผิดจริยธรรม เขาจะทำอย่างไร
ว่าที่ผู้อำนวยการเอฟบีไอผู้นี้กล่าวว่า ก่อนอื่นตนจะพยายามจูงใจให้ประธานาธิบดีเลิกความคิดดังกล่าว แต่หากไม่สำเร็จ นาย คริสโตเฟอร์ เวรย์ บอกว่าตนก็จะยื่นใบลาออก
(รายงานโดย ห้องข่าววีโอเอ / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)