ขณะนี้บริษัทเแฟชั่นอย่างเช่น Zara และ H & M กำลังเตรียมรับมือกับกฎใหม่ที่อาจจะมีผลในปี 2025 เรื่องการบริหารจัดการขยะที่เป็นเสื้อผ้าไม่ใช้เเล้ว
กฎของสหภาพยุโรป หรืออียู เสนอว่าประเทศสมาชิกจะต้องแยกสิ่งทอออกจากขณะประเภทอื่นภายในเดือนมกราคมสองปีจากนี้
นอกจากนั้นมีการเสนอกฎให้บริษัทเสื้อผ้าจ่ายเงินช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับงานเกี่ยวกับการคัดแยกเสื้อผ้าใช้เเล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และการเอาวัตถุดิบไปรีไซเคิล
กฎที่ถูกเสนอในเวลานี้ ต้องการให้บริษัทเสื้อผ้าสำเร็จรูปจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้กับอียูเป็นเงิน 0.12 ยูโรต่อเสื้อผ้าหนึ่งชิ้นที่ขายได้
หากว่าสินค้าเป็นวัตถุดิบที่ยากต่อการรีไซเคิล ค่าทำเนียมก็จะสูงขึ้นตามรายงานของรอยเตอร์
ต่อไปประเทศกลุ่มอียูจะมีสมาคมบริหารจัดการขยะเสื้อผ้าในเเต่ละประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเเล้วในฝรั่งเศสและสเปน
ที่สเปนเกิดองค์กรไม่เเสวงหาผลกำไรสำหรับภารกิจดังกล่าวที่ชื่อว่า โมดา รี (Moda Re) ซึ่งมีผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินบางส่วนคือ อินดิเทกซ์ (Inditex) บริษัทแม่ของ Zara
โมดา รี ตั้งเป้าว่าภายในหนึ่งปีจากนี้จะคัดแยกเสื้อผ้าใช้เเล้วเพื่อการกลับมาใช้ใหม่และการเอาวัตถุดิบไปรีไซเคิล ให้ได้ 4 หมื่นตันต่อปี หรือคิดเป็น 2 เท่าของปริมาณที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ อินดิเทกซ์ ยังร่วมมือกับ H & M พร้อมด้วย Mango และบริษัทเเฟชั่นอื่น ๆ ตั้งองค์กรไม่เเสวงหาผลกำไรมาทำหน้าที่บริหารจัดการขยะจากอุตสาหกรรมนี้
แม้จะเริ่มเกิดความพยายามลดขยะเสื้อผ้าขึ้นแล้ว แต่ทั่วยุโรปมีขยะประเภทนี้ 5.2 ล้านตันและเพียงไม่ถึง 25% ถูกรีไซเคิล ตามรายงานของรัฐบาลอียูที่เปิดเผยในเดือนกรกฎาคม
นอกจากนั้น รายงานฉบับนี้กล่าวว่า เสื้อผ้าใช้เเล้วหลายล้านตันถูกส่งไปสู่ที่ทิ้งขยะ และมีจำนวนมากที่มีทวีปแอฟริกาเป็นปลายทาง ซึ่งอาจก่อปัญหามลพิษต่อสิ่งเเวลล้อมได้
รายงานอีกฉบับของสหประชาชาติชี้ว่าอียูนำเสื้อผ้าใช้แล้วออกจากเขตของตนปริมาณ 1.4 ล้านตันในปีที่เเล้วเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากเมื่อ 22 ปีก่อน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสาเหตุของปัญหาขยะเสื้อผ้าที่เพิ่มขึ้นมากจากการบริโภคที่มากเกินไป
ขณะที่บริษัทที่ปรึกษา McKinsey เปิดเผยในรายงานเมื่อปีที่เเล้วว่า ควรมีการลงทุนมูลค่า 6 พันล้านถึง 7 พันล้านยูโรก่อนปี 2030 เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการและรีไซเคิลขยะจากเสื้อผ้าใช้แล้วให้ได้ตามเป้าหมายของสหภาพยุโรป
- ที่มา: รอยเตอร์