สหรัฐฯ พบ จีนทุ่มเงินนับสิบล้านผ่านกิจการสื่อเพื่อขยายอิทธิพลในหมู่ชาวอเมริกัน

China's state broadcaster CGTN anchor Liu Xin looks at a screen showing her debate with Fox Business Network presenter Trish Regan, at the CCTV headquarters in Beijing on May 30, 2019.

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


รายงานล่าสุดจากหน่วยงานตรวจสอบของรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ว่า จีนได้ทุ่มงบประมาณสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพื่อลงทุนในธุรกิจกระจายเสียงและกิจการสื่อต่างๆ ของตน เพื่อขยายอิทธิพลในสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา

รายงานการตรวจสอบภายใต้กฎหมาย Foreign Agents Registration Act (FARA) ของสหรัฐฯ ที่รวบรวมโดย Center for Responsive Politics ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยอิสระไม่หวังผลกำไรในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า สถานีโทรทัศน์ China Global Television Network (CGTN) ซึ่งรัฐบาลกรุงปักกิ่งเป็นเจ้าของ ทุ่มงบจำนวนกว่า 50 ล้านดอลลาร์เพื่อขยายการปฏิบัติการในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว โดยงบนี้คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของการใช้จ่ายของรัฐบาลจีนในการสร้างอิทธิพลต่อความคิดเห็นของชาวอเมริกันและนโยบายของสหรัฐฯ

นับตั้งแต่ CGTN เริ่มออกอากาศในสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2012 สถานีโทรทัศน์จีนแห่งนี้ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขเม็ดเงินที่ลงทุนในสหรัฐฯ อย่างสมบูรณ์นัก และรายงานการใช้จ่ายบางส่วนที่ประมาณ 43 ล้านดอลลาร์สำหรับปี ค.ศ. 2019

อย่างไรก็ดี การเปิดเผยตัวเลขที่ครบถ้วนที่ใช้จ่ายในปีที่แล้วออกมาของ CGTN ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ทำให้ทีมงานผู้รวบรวมข้อมูลสรุปได้ว่า จีนใช้เงินเกือบ 64 ล้านดอลลาร์เพื่อดำเนินแผนโฆษณาชวนเชื่อและการล็อบบี้ต่างๆ ในสหรัฐฯ ตลอดปี ค.ศ. 2020

และหากนับเอาธุรกิจกระจายภาพและเสียงมาคำนวณด้วยแล้ว จีนกลายมาเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณสูงที่สุดในโลกเพื่อสร้างอิทธิพลต่อความคิดของชาวอเมริกัน ตามมาด้วย กาตาร์ ที่ทุ่มงบเกือบ 50 ล้านดอลลาร์ และรัสเซีย ที่ควักเงินถึง 42 ล้านดอลลาร์

รายงานข่าวชี้ว่า การที่จีนทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อสื่อสารกับชาวอเมริกันนั้น เกิดขึ้นขณะที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งพยายามแก้ไขภาพลักษณ์ในประชาคมโลก ที่มองว่าจีนเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสนั่นเอง

China Watching Xi’s Trip

รายงานชิ้นนี้ยังพบว่า ขณะที่งบค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วของหนังสือพิมพ์ China Daily ลดลงจากระดับกว่า 10 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2019 มาอยู่ที่ราว 3 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว แต่หนังสือพิมพ์ที่เป็นของรัฐบาลจีนฉบับนี้ได้จัดพิมพ์หน้าแทรกต่างๆ ที่มีบทความเชิงสร้างอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาลและความคิดเห็นประชาชน แนบไปกับหนังสือพิมพ์หัวต่างๆ ของสหรัฐฯ อย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนเฝ้าปฏิเสธมาตลอดว่า ตนได้พยายามดำเนินการต่างๆ เมื่อเสริมสร้างอิทธิพลในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ กฎหมาย FARA ซึ่งผ่านออกมาใช้งานตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1938 นั้น กำหนดให้รัฐบาลและองค์กรต่างชาติต่างๆ ที่ทำการล็อบบี้หรือพยายามสร้างอิทธิพลในสหรัฐฯ ต้องเปิดเผยรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ของตนให้กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ทราบ แต่กฎหมายนี้มีข้อยกเว้นให้กับองค์กรข่าวที่มีชาวอเมริกันถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ต้องทำรายงานดังกล่าว