Your browser doesn’t support HTML5
ในระหว่างเข้าร่วมประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด—19 ผ่านระบบออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศย้ำว่า สหรัฐฯ จะทำหน้าที่เป็นเหมือน “คลังวัคซีนโลก” เพื่อช่วยนานาประเทศรับมือและต่อสู้กับวิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดกรณีโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กรุงวอชิงตันจะบริจาควัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาและผลิตโดยบริษัท ไฟเซอร์ ให้กับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางอีก 500 ล้านโดส ซึ่งทำให้ยอดบริจาคของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 1,100 ล้านโดสทันที
ปธน.ไบเดน ประกาศย้ำด้วยว่า “อเมริกา จะเป็นคลังวัคซีน เช่นเดียวกับที่ เคยเป็น คลังแห่งประชาธิปไตย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 “
สหรัฐฯ สัญญาและจัดส่งวัคซีนไปแล้วเป็นจำนวนเท่าไหร่
ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า ในเวลานี้ มีการจัดส่งวัคซีนเกือบ 172 ล้านโดส จากทั้งหมด 1,100 ล้านโดสที่สัญญาว่าจะบริจาคให้ทั่วโลก ไปยังกว่า 100 ประเทศแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นการนำส่งผ่านโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กลุ่มพันธมิตรวัคซีน กาวิ (Gavi) องค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มพันธมิตรนวัตกรรมการเตรียมความพร้อมรับการระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) รวมทั้งผ่านข้อตกลงระดับทวิภาคีจำนวนหนึ่ง
ตัวเลขการจัดส่งดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ กลายมาเป็นผู้นำโลกทั้งในด้านจำนวนที่สัญญาว่าจะบริจาคและการจัดส่งจริง ตามรายงานที่รวบรวม ณ วันที่ 1 ตุลาคม โดยศูนย์ Duke Global Health Innovation Center
ส่วนผู้บริจาคในอันดับรองลงมานั้น ได้แก่ สหภาพยุโรป (500 ล้านโดส) ตามมาด้วย ฝรั่งเศส (120 ล้านโดส) และ อังกฤษ เยอรมนี และจีน (ประเทศละ 100 ล้านโดส)
เมื่อดูที่จำนวนวัคซีนที่นำส่งจริงนั้น จีน อยู่ที่อันดับที่ 2 ด้วยตัวเลข 47 ล้านโดส ตามมาด้วย สหภาพยุโรป (33.8 ล้านโดส) ญี่ปุ่น (21.5 ล้านโดส) และเยอรมนี (9.9 ล้านโดส)
ทั้งนี้ ตัวเลขวัคซีนซึ่งสหรัฐฯ ประกาศบริจาคไว้ที่ 1,100 ล้านโดส สอดคล้องกับคำสัญญาของรัฐบาลปธน.ไบเดน ที่ว่า จะบริจาควัคซีน 3 เข็มสำหรับการฉีดวัคซีนทุกๆ 1 เข็มภายในประเทศ โดยตัวเลขจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ทำการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 395 ล้านเข็มในเวลานี้
แต่คำถามที่ยังรอคำตอบกันอยู่ก็คือ สหรัฐฯ จะทำตามสัญญาและนำส่งวัคซีนที่เหลืออีกเกือบ 1 พันล้านโดสหรือไม่
การคำนวณสัดส่วนวัคซีนที่นำส่งเมื่อเทียบกับตัวเลขที่สัญญาไว้ แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ จัดส่งวัคซีนไปเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ของที่ประกาศไว้ ซึ่งต่ำกว่าของประเทศผู้บริจาคอื่นๆ เช่น จีน ซึ่งจัดส่งไปแล้ว 46 เปอร์เซ็นต์ หรือ ญี่ปุ่น ที่นำส่งแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์
ที่เหลือจะจัดส่งเมื่อไหร่และไปยังประเทศใด
ทำเนียบขาวประกาศว่า สหรัฐฯ จะจัดส่งวัคซีนอีก 200 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ และที่เหลืออีกราว 800 ล้านโดสจะได้รับการจัดส่งภายในเดือนกันยายนของปีหน้า
แต่ แมทธิว คาวานาห์ ผู้อำนวยการโครงการ Global Health Policy and Politics Initiative แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวว่า โลกไม่สามารถรอได้นานขนาดนั้น และเรียกร้องให้สหรัฐฯ เร่งทำการจัดส่งตั้งแต่บัดนี้ โดยเฉพาะหากรัฐบาลต้องการจะบรรลุเป้าหมายสนับสนุนองค์การอนามัยโลกที่ต้องการเห็นประชากรโลกสัดส่วนอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ได้รับวัคซีนครบโดสภายในเดือนกันยายนของปีหน้า
ในเวลานี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าประเทศใดจะเป็นผู้รับมอบวัคซีนงวดถัดไป ขณะที่ เจเรมี โคนิกดิก ผู้อำนวยการ คณะทำงานด้านโควิด-19 ของ หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) กล่าวว่า ประเทศที่ลงนามเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้ว และพร้อมที่จะรับมอบวัคซีนเพื่อการแจกจ่ายให้ประชาชนของตน จะเป็นกลุ่มถัดไปที่ได้รับวัคซีนจากสหรัฐฯ และผู้ที่ไม่อยู่ในข่ายดังกล่าวจะได้รับวัคซีนเมื่อพร้อม
สหรัฐฯ มีวัคซีนเหลือใช้เท่าไหร่
รัฐบาลกรุงวอชิงตันไม่ได้เปิดเผย จำนวนวัคซีนที่มีอยู่ในคลังของตนในเวลานี้ รวมทั้งตัวเลขวัคซีนที่สั่งบริษัทผู้ผลิตให้กันไว้สำหรับการใช้ภายในประเทศด้วย โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งบอกกับ วีโอเอ ว่า ตัวเลขเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ข้อมูลจาก CDC แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน มีวัคซีนจำนวน 82 ล้านโดสที่ถูกจัดส่งไปทั่วประเทศแล้วแต่ยังไม่ได้ถูกใช้งาน ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งกล่าวหาสหรัฐฯว่า ฮุบวัคซีนมาเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Airfinity เกี่ยวกับคลังวัคซีนในสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา และจีน ระบุว่า ทุกประเทศมีวัคซีนรวมกันในคลังถึงเกือบ 670 ล้านโดสเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่เพิ่งผ่านพ้นไป โดยตัวเลขนี้นับรวมวัคซีนที่เป็นบูสเตอร์สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีครึ่งขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 โดสด้วย
นอกจากนั้น Airfinity ยังประเมินด้วยว่า มีวัคซีนราว 241 ล้านโดสในคลังของประเทศสมาชิกกลุ่ม จี-7 ที่จะหมดอายุลงในเดือนธันวาคมปีนี้
ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนโลก เป็นเรื่องของกำลังการผลิต หรือการแจกจ่าย?
ข้อมูลจาก Airfinity แสดงให้เห็นว่า บรรดาผู้ผลิตวัคซีนนั้นสามารถผลิตวัคซีนออกมาได้ราว 1,500 ล้านโดสต่อเดือน และคาดการณ์ว่า จำนวนการผลิตทั่วโลกในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 12,200 ล้านโดส โดย 6,500 ล้านโดสเป็นวัคซีนที่ผลิตโดยประเทศตะวันตก และอีก 5,700 ล้านโดสเป็นวัคซีนที่ผลิตโดยจีน
หากทุกอย่างเป็นไปตามตัวเลขนี้ การที่องค์การอนามัยโลกจะบรรลุเป้าแจกจ่ายวัคซีนจำนวน 11,300 ล้านโดสเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชากรทั่วโลกน่าจะทำสำเร็จภายในเวลาไม่ถึงปี หากประเทศร่ำรวยทั้งหลายไม่พยายามกักตุนวัคซีนเพื่อใช้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือเพื่อรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ก่อนที่ประชาชนในประเทศรายได้ต่ำจะได้รับวัคซีนเข็มแรก
รายงานข่าวระบุว่า ประเทศรายได้สูงทั้งหลายทำการฉีดวัคซีนเกือบ 100 โดสให้กับประชาชนจำนวน 100 คนแล้ว แต่ประเทศรายได้ต่ำกลับมีความสามารถฉีดวัคซีนได้เพียง 1.5 โดสต่อประชาชน 100 คนเท่านั้น ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก
หากความสามารถในการผลิตวัคซีนทั่วโลกอยู่ในระดับสูง ทำไมถึงไม่มีการส่งออกกันให้เพียงพอ
ในความเป็นจริง การส่งออกวัคซีนที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังประเทศรายได้สูง ขณะที่ บางประเทศดำเนินมาตรการจำกัดการส่งออกไว้ เช่น ในสัปดาห์นี้ สหภาพยุโรปสั่งยืดเวลามาตรการที่จะจำกัดการส่งออกวัคซีนไปจนถึงสิ้นปี เพื่อกักตุนเอาไว้สำหรับเป็นวัคซีนบูสเตอร์ หรือ อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก สั่งระงับการส่งออกเมื่อเดือนเมษายนเพื่อนำวัคซีนมาแจกจ่ายในประเทศ ก่อนจะกลับมาส่งออกอีกครั้งในเดือนนี้
ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้สมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ยอมยกเว้นการบังคับใช้เงื่อนไขตามความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights – TRIPS) สำหรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อเปิดโอกาสให้นานาประเทศสามารถเข้าถึง ‘สูตร’ วัคซีน เพื่อนำไปผลิตเองโดยไม่ต้องกังวลประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ
แอฟริกาใต้และอินเดีย คือ 2 ประเทศที่ยื่นคำร้องขอให้มีการยกเว้นการบังคับใช้ความตกลง TRIPS ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกว่า 100 ประเทศ รวมทั้ง ผู้รับรางวัลโนเบลกว่า 100 คน และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ แต่ความพยายามนี้กลับไม่ได้เดินหน้าไปไหนเลย ตราบใดที่ยังไม่ได้ฉันทามติจากประเทศสมาชิก WTO ขณะที่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ และสหรัฐฯ เองยังไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียที