'เทคโนโลยีจดจำใบหน้า' ถูกนำมาใช้รักษาความปลอดภัยตามสนามบินและสถานที่ชุมนุมต่างๆ

Visitors experience facial recognition technology at Face++ booth during the China Public Security Expo in Shenzhen, China October 30, 2017.

Your browser doesn’t support HTML5

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจดจำใบหน้า

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังพัฒนา ทดสอบ และนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Face Recognition) มาใช้ในด้านต่างๆ รวมทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัย

ตัวอย่างเช่น ที่สนามบินนานาชาตินครลอสแองเจิลลีส หรือ LAX สำนักงานความปลอดภัยด้านการคมนาคมของสหรัฐฯ หรือ TSA กำลังทดลองใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในการถ่ายรูปใบหน้าของผู้โดยสารเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับรูปบนพาสปอร์ต ก่อนที่จะผ่านจุดตรวจความปลอดภัย

หากการทดลองนี้ให้ผลน่าพอใจ คาดว่า TSA จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ตามสนามบินต่างๆ ในสหรัฐฯ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า

FILE - A U.S. Customs and Border Protection facial recognition device is ready to scan another passenger at a United Airlines gate.

อีกตัวอย่างหนึ่ง บริษัท FaceFirst ของสหรัฐฯ ได้พัฒนาซอฟท์แวร์เทคโนโลยีจดจำใบหน้า เพื่อช่วยตำรวจในการติดตามประวัติของผู้ต้องสงสัย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจใช้วิธีถ่ายรูปใบหน้าของผู้ต้องสงสัยด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แล้วเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลว่าคนๆ นั้นมีประวัติด้านอาชญากรรมหรือไม่

โดยซอฟท์แวร์ที่ว่านี้สามารถนำไปติดตั้งได้ตามศูนย์การค้า คอนเสิร์ต สนามกีฬา หรือสถานที่จัดงานชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากได้

คุณปีเตอร์ เทร็ปป์ (Peter Trepp) ผู้บริหารของ FaceFirst ระบุว่า ทางบริษัทใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า GPU หรือ Graphic Processing Units ซึ่งสามารถประมวลผลข้อมูลจากใบหน้าจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และสามารถตรวจจับใบหน้าจากด้านข้าง หรือแม้แต่ใบหน้าที่กำลังเคลื่อนไหว ได้อย่างแม่นยำ

คุณเทร็ปป์ บอกว่า ในอนาคต อุปกรณ์หลายอย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งกุญแจบ้าน กุญแจรถ บัตรเอทีเอ็ม หรือแม้แต่การใส่รหัสพาสเวิร์ดต่างๆ จะค่อยๆ หายไป โดยสิ่งที่มีแทนก็คือเทคโลยีจดจำใบหน้า

ส่วนที่ประเทศจีน บริษัท Horizon Robotics ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานของระบบจดจำใบหน้า ที่สามารถระบุข้อมูลใบหน้าของแต่ละคนในฝูงชนจำนวนมากที่เดินอยู่บนถนนแห่งหนึ่งในประเทศจีน รวมทั้งตามศูนย์การค้า ผ่านกล้องวงจรปิด

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าอย่างแพร่หลาย ก็หมายความว่าจะต้องมีใบหน้าจำนวนมาก และข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของใบหน้าเหล่านั้นที่ถูกเก็บไว้ในโลกออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งนำไปสู่ประเด็นเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะในโทรศัพท์มือถือ หรือในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

อาจารย์เปรม นาทาราจัน แห่งภาควิชาคอมพิวเตอร์ University of Southern California ชี้ว่า ปัจจุบันรูปของคุณอาจไปปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แม้ว่าคุณไม่รู้ไม่เห็น หรือไม่ได้เป็นคนโพสต์เอง เปรียบเทียบคล้ายกับ Secondhand Smoking คือถึงคุณจะไม่ได้โพสต์รูปนั้นโดยตรง แต่ก็ต้องได้รับผลกระทบจากรูปนั้นด้วย

นักวิเคราะห์ผู้นี้รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อื่นๆ แนะนำว่า ควรมีการจัดทำโครงร่างปฏิบัติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุมเทคโนโลยีจดจำใบหน้าด้วย

(ผู้สื่อข่าว Elizabeth Lee รายงานจากนครลอสแองเจลลีส / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)