'โพรโซแพ็กโนเซีย' โรคประหลาดลืมใบหน้าคน รวมทั้งหน้าตัวเองและคนใกล้ชิด

People faces

หากคุณรู้จักคนใกล้ชิดที่มักจะลืมใบหน้าของคุณเป็นประจำ จริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้แกล้งลืม แต่อาจเป็นโรคประหลาดชนิดหนึ่ง

Your browser doesn’t support HTML5

'โพรโซแพ็กโนเซีย' โรคประหลาดลืมใบหน้าคน รวมทั้งหน้าตัวเองและคนใกล้ชิด

อาการหลงๆ ลืมๆ ทั่วไป อาจทำให้คุณลืมชื่อของคนที่เคยพบเจอมาก่อนแม้ว่าจะสามารถจดจำใบหน้าคนๆ นั้นได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า มีโรคประหลาดชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยลืมใบหน้าของคนใกล้ชิด แม้สามารถจดจำสิ่งอื่นๆ ได้ก็ตาม

อาการผิดปกติทางสมองที่มีชื่อทางการแพทย์ว่า "โพรโซแพ็กโนเซีย" (Prosopagnosia) หรือ “โรคลืมใบหน้า” เป็นอาการที่ไม่พบบ่อยนัก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถจดจำใบหน้าคนได้ ซึ่งอาจรวมถึงใบหน้าของสมาชิกในครอบครัว และใบหน้าของตัวเองด้วย

คุณ Dacia Reid หนึ่งในผู้ป่วยโรค Prosopagnosia เคยถูกกระทบกระเทือนทางสมองเมื่อครั้งที่เธอยังเด็ก ซึ่งแม้เธอจะหายดีแล้ว แต่นั่นก็ยังทำให้เธอไม่สามารถจดจำใบหน้าคนได้ หมายความว่าหากพบใครเป็นครั้งที่สอง มีโอกาสสูงที่เธอจะลืมใบหน้าของคนๆ นั้น

คุณ Brad Duchaine นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Dartmouth และเพื่อนร่วมงาน ได้รวบรวมผู้ป่วยโรค Prosopagnosia 20 คน เพื่อศึกษาอาการของโรคประหลาดนี้ โดยพยายามทำความเข้าใจการทำงานของสมองของผู้ป่วย ว่าแตกต่างจากสมองของคนทั่วไปอย่างไร

จริงๆ โรค Prosopagnosia เริ่มค้นพบมานานแล้ว คือราว 150 ปีก่อน แต่ยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้มากนัก และการศึกษาทำความเข้าใจก็คงยังเป็นไปอย่างจำกัด แพทย์ยังคงไม่สามรถระบุได้ว่าอะไรคือสาเหตุของโรคดังกล่าว และการวินิจฉัยก็ทำได้ยาก เนื่องจากอาจเกิดความสับสนกับอาการหลงๆ ลืมๆ ทั่วไป

คุณ Brad Duchaine ชี้ว่า ผู้ป่วยโรคลืมใบหน้า อาจสามารถจดจำได้ว่าจอดรถไว้ที่ไหน เส้นทางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ แต่กลับลืมใบหน้าของคนรู้จักได้ง่ายๆ เนื่องจากสมองส่วนที่จดจำใบหน้านั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

ซึ่งนอกจากอาการหลงลืมใบหน้าแล้ว ผู้ป่วยอาจไม่สามารถบอกลักษณะต่างๆ จากใบหน้า เช่น อายุ เพศ หรือการแสดงสีหน้า

ผู้ป่วยบางคนที่ไม่รุนแรงนักอาจสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้โดยไร้ปัญหา แต่ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นปลีกตัวออกจากสังคม กระทบหน้าที่การงาน ขาดความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรืออาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้

และถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีรักษาโรคประหลาดนี้ แต่นักวิจัยหวังว่าการศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงการเกิดโรคนี้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การค้นพบวิธีรักษาได้ในอนาคต

แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น แพทย์ได้แนะนำให้ผู้ที่คิดว่าตนอาจมีอาการของโรคดังกล่าวเข้ารับการวินิจฉัยและฝึกฝนวิธีต่างๆ ที่จะช่วยเสริมความสามารถในการจดจำใบหน้าคนได้บ้าง เช่น การจดจำตำแหน่งที่นั่งของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน จดจำการแต่งกาย หรือเครื่องประดับที่เพื่อนหรือคนในครอบครัวชอบใส่ รวมทั้งการฝึกจดจำและจำแนกเสียงของแต่ละคน