อธิบาย: ยานหุ้มเกราะจากชาติตะวันตกจะช่วยกู้วิกฤตยูเครนได้อย่างไร?

Russia Ukraine War Biden

สหรัฐฯ และเยอรมนี มีแผนส่งยานพาหนะหุ้มเกราะให้กับยูเครน รวมถึงยานหุ้มเกราะแบรดลีย์ 50 คัน เพื่อขยายขีดความสามารถในการเคลื่อนย้ายทหารไปสู้รบบริเวณแนวหน้าและเพิ่มสรรพกำลังของกองทัพยูเครนในการต่อสู้กับรัสเซีย ในช่วงที่สงครามจะเข้าสู่วาระครบ 1 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

แม้ว่าพาหนะการหทารเหล่านี้จะไม่ช่วยเติมเต็มความต้องการของยูเครนที่เรียกร้องยานยนต์หุ้มเกราะติดอาวุธ แต่ได้ช่วยในแง่ของความสามารถในการต่อสู้เชิงกลยุทธ์ ในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาลในยูเครนที่ทำให้สภาพภูมิประเทศภายใต้สมรภูมินี้เต็มไปด้วยโคลน บวกกับการรุกคืบอย่างแข็งกร้าวของยูเครนที่หวังทวงคืนดินแดนที่รัสเซียยึดครองไป โดยเฉพาะทางตะวันออกของประเทศ

ยานพาหนะหุ้มเกราะคืออะไร? และสิ่งนี้จะช่วยยูเครนได้อย่างไร?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า นี่ไม่ใช่รถถัง!

รถหุ้มเกราะ M2A2 Bradley ของสหรัฐฯ ยานพาหนะหุ้มเกราะติดอาวุธขนาดกลาง ที่เคลื่อนที่ด้วยตีนตะขาบมากกว่าขับเคลื่อนด้วยล้อ แต่มีน้ำหนักเบาและคล่องตัวกว่ารถถัง สามารถบรรทุกทหารได้ 3-6 นายต่อคัน และถือเป็นพาหนะสำคัญในการลำเลียงทหารไปยังแนวหน้าการสู้รบได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ยานเกราะดังกล่าวยังมีปืนกลขนาดลำกล้อง 25 มม. ติดอยู่ด้านบนยานเกราะ พร้อมทั้งฐานปล่อยขีปนาวุธ TOW ซึ่งใช้ต่อต้านรถถังที่พร้อมใช้เมื่อยานเกราะจอดนิ่งสนิท ซึ่งหมายความว่าขีปนาวุธนี้จะสามารถใช้กับเป้าหมายที่ทหารสามารถมองเห็นได้ในสมรภูมิ ดังนั้นยานเกราะดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพในพื้นที่สู้รบแบบเปิดโล่ง เช่น ทะเลทรายและทุ่งกว้าง

ส่วนยานหุ้มเกราะ Marder ของเยอรมนี เป็นอีกหนึ่งยานหุ้มเกราะที่ชาติตะวันตกจัดส่งให้ยูเครน มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับรถหุ้มเกราะ Bradley ออกแบบมาเพื่อรองรับการต่อสู้ขั้นสูงที่เรียกว่ากลยุทธ์การรบผสมเหล่า (combined arms maneuver fight) ซึ่งเป็นการผสมผสานการรบเหล่าทัพทางบก ทางอากาศ การใช้อาวุธ และหน่วยต่อสู้รูปแบบต่าง ๆ ที่ประสานงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อเพื่อชัยชนะในสงคราม

ตัวอย่างที่ใช้รูปแบบการสู้รบดังกล่าว คือ กองทัพยูเครนสามารถยิงปืนใหญ่และโจมตีทางอากาศบริเวณฐานที่มั่นของกองทัพรัสเซีย จากนั้นเคลื่อนย้ายทหารราบด้วยยานเกราะดังกล่าวไปยังแนวหน้าเพื่อการโจมตีพิกัดที่รัสเซียล่าถอยในการสู้รบได้อย่างรวดเร็ว

UKRAINE-CRISIS/GERMANY-DEFENCE

แบรดลีย์ โบว์แมน ผู้อำนวยการอาวุโสจาก Center on Military and Political Power แห่ง Foundation for Defense of Democracies ให้ทัศนะกับเอพีว่า ยานหุ้มเกราะเหล่านี้สร้างสถานการณ์ที่ยากลำบากให้กับศัตรู และการใช้รถหุ้มเกราะร่วมกับปืนใหญ่เป็นส่วนผสมที่ทรงพลังในการสู้รบ

ทั้งรัสเซียและยูเครน สูญเสียรถถังและรถหุ้มเกราะในการสู้รบที่ยืดเยื้อกว่า 10 เดือนก่อน ดังนั้นการส่งรถหุ้มเกราะ Bradley และ Marder จะช่วยทดแทนความสูญเสียเหล่านั้นได้

ทำไมต้องส่งยานเกราะให้ยูเครนตอนนี้ด้วย?

การตัดสินใจส่งยานเกราะ Bradley ของสหรัฐฯ สะท้อนถึงการยกระดับความซับซ้อนและความร้ายแรงของอาวุธที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจัดหาให้ยูเครนในสงครามครั้งนี้

หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าท่าทีเหล่านี้ช้าเกินไป โดยแย้งว่ายูเครนต้องการทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถหามาได้ในการรับมือกับรัสเซีย และการสูญเสียดินแดนบางส่วนของยูเครนเป็นสิ่งที่ป้องกันได้หากสหรัฐฯ และพันธมิตรตัดสินใจรวดเร็วกว่านี้

อีกด้านหนึ่งมองว่า การจัดส่งอาวุธให้ยูเครนที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น อยู่บนพื้นฐานของรูปแบบการสงครามที่เปลี่ยนไป นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว และทหารยูเครนสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้มากขึ้นเพื่อเข้ารับการฝึกฝนที่จำเป็นในการสู้รบและบำรุงรักษาระบบเทคโนโลยีการทหารขั้นสูง

UKRAINE-CRISIS/USA-DEFENSE

โฆษกด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว จอห์น เคอร์บี กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ยานเกราะ Bradley จะมีประโยชน์อย่างมาก ในระหว่างที่การสู้รบยกระดับขึ้นทางแคว้นดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่งนาและลานแบบเปิด และว่าการตัดสินใจดังกล่าว สะท้อนถึงความต้องการด้านการทหารยูเครนในตอนนี้ และทิศทางการสู้รบในอนาคต

ลอรา คูเปอร์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมฝ่ายกิจการรัสเซียและยูเครน กล่าวว่า นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมในการส่งยานเกราะ Bradley ไปให้ “ชาวยูเครนได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการดูแลรักษาอาวุธที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” และว่าการฝึกฝนกองทัพยูเครนที่นำโดยสหรัฐฯ จะเริ่มต้นช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ เพื่อช่วยให้ทหารยูเครนสามารถใช้ รักษา และซ่อมบำรุงอาวุธต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ จัดหาให้ยูเครนได้

สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ได้ใช้ช่วงเวลาฤดูหนาวในการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ที่ยูเครนต้องการสำหรับการสู้รบที่ระอุขึ้นในฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง

ขอบใจแต่ไม่ให้รถถัง?

ยูเครนพยายามร้องขอรถถังมาโดยตลอด แต่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรคัดค้านเรื่องการส่งยานพาหนะหุ้มเกราะติดอาวุธที่มีขนาดใหญ่ ทรงพลัง และมีความซับซ้อนไปให้กับยูเครน

อย่างเช่น รถถัง M1 Abrams ที่บรรทุกปืนที่ทรงพลังกว่าและเกราะคุ้มกันแน่นหนากว่า น้ำหนักมากและใช้เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน แทนที่จะใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งคุณสมบัติต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้อาจเป็นเรื่องยากในการบำรุงรักษาในช่วงการเคลื่อนย้ายกำลังพล

คูเปอร์ เสริมว่า “เราเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ายูเครนต้องการรถถัง ... แต่เราต้องตระหนักถึงการบำรุงรักษารถถังเหล่านี้ด้วย และแน่นอนว่าเรารู้ว่ารถถัง Abrams นอกเหนือจากการเป็นยานยนต์ที่กินน้ำมันแล้ว ยังยากต่อการบำรุงรักษาด้วย” และว่านั่นคือเหตุผลว่าทำไมสหรัฐฯ จึงร่วมมือกับเนเธอร์แลนด์ ในการปรับปรุงรถถังยุคโซเวียต T-72 ที่กองทัพยูเครนรู้วิธีการใช้อยู่แล้ว

FILE - Ukrainian soldiers on captured Russian tanks T-72 hold military training close to the Ukraine-Belarus border near Chernihiv, Ukraine, Oct. 28, 2022.

สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ได้ฝึกฝนมาหลายสิบปีในวิธีการเคลื่อนย้ายกำลังพลในสงคราม เพื่อให้มีอาหาร เชื้อเพลิง และเสบียงต่าง ๆ ที่จำเป็นมีเพียงพอสำหรับกองทัพ ซึ่งประเด็นนี้รัสเซียไม่สามารถทำได้ และเห็นได้ชัดเจนในช่วงเริ่มต้นของสงคราม ที่กองทัพรัสเซียซึ่งมุ่งหน้าไปกรุงเคียฟประสบปัญหาเพราะไม่มีอาหารและเชื้อเพลิงเพียงพอเนื่องจากช่องทางการขนส่งติดขัดเสียหายทั้งหมด

เมื่อไหร่รถหุ้มเกราะจะถึงมือยูเครน?

ทางการสหรัฐฯ และเยอรมนี ไม่ได้เปิดเผยกรอบเวลาที่ชัดเจนในการฝึกฝนเหล่าทหารและเรื่องที่ยานเกราะที่ทั้งสองประเทศจัดส่งให้จะไปถึงยูเครนได้เร็วที่สุดเมื่อใด

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน ระบุว่า การฝึกฝนกองทัพยูเครนจะเริ่มต้นในเดือนมกราคมนี้ และว่าการฝึกอบรมเรื่องการใช้ยานเกราะ Bradley ได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรด้วย รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมฝ่ายกิจการรัสเซียและยูเครน กล่าวด้วยว่า “ภารกิจนี้จะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนโดยเบื้องต้น”

ฝั่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ โชลส์ มีความระมัดระวังเรื่องการจัดส่งยานพาหนะหุ้มเกราะให้กับยูเครนมาตลอด และค้านว่าเยอรมนีจะไม่เป็นฝ่ายจัดส่งไปเพียงประเทศเดียว ซึ่งนำไปสู่การประกาศแผนจัดส่งพร้อมกับสหรัฐฯ รอบล่าสุดนี้

ทางโฆษกรัฐบาลเยอรมนี สเตฟเฟน เฮเบสสไตรท์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงเบอร์ลินว่า รถหุ้มเกราะของเยอรมนีจะพร้อมส่งไปยังยูเครนในไตรมาสแรกของปีนี้ เยอรมนีมีแผนที่จะฝึกฝนทหารยูเครนเพื่อใช้พาหนะดังกล่าว ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 8 สัปดาห์

  • ที่มา: เอพี