สื่อต่างประเทศจับตาทิศทางการเมืองไทยใกล้ชิดในช่วงสัปดาห์นี้ พร้อมวิเคราะห์เส้นทางสู่เก้าอี้นายกของ ‘พิธา’ กับสารพัดความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า
ไทม์รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินทรงรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ในช่วงเย็นวันจันทร์ ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาในวันที่ 4 กรกฎาคม หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ในวันเดียวกันนี้ วีโอเอรายงานว่า แกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มีข้อตกลงร่วมกันที่จะเสนอชื่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นั่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าทางตันการสรรหาประธานสภาที่ยืดเยื้อมานานในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่กระบวนการต่อจากนี้ คือการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ และจะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม
แม้ว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะถูกมองว่าเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนในการไม่ยอมรับรัฐบาลทหารที่เข้าปกครองประเทศหลังก่อรัฐประหารเมื่อปี 2014 แต่หนทางแห่งการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่นั้น ยังถือว่าห่างไกลจากความตรงไปตรงมา
เพราะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตัวแทนเข้าสภาผู้แทนราษฎร 500 ที่นั่ง ในขณะที่การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยนั้นยังขึ้นอยู่กับวุฒิสมาชิกที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดก่อนซึ่งนำทีมโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้นยากเกินคาดเดา
โฉมหน้าสภาชุดใหม่เป็นอย่างไร?
รอยเตอร์ รายงานว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นอดีตฝ่ายค้านในยุครัฐบาลชุดก่อน ได้ส.ส. 151 และ 141 ที่นั่งตามลำดับ จะจับมือกับพรรคร่วมอีก 6 พรรค เพื่อให้ได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎร 312 จาก 500 เสียง
ส่วนพรรคภูมิใจไทยได้ไป 71 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 25 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติได้ 40 และ 36 ที่นั่งตามลำดับ ไม่ได้อยู่ในสมการพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่ไม่มีการประกาศว่าพรรคเหล่านี้จะพยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแต่อย่างใด
พันธมิตรเสียงข้างมากการันตีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่?
การวิเคราะห์ของรอยเตอร์ไม่เห็นเป็นเช่นนั้น เพราะเสียงข้างมากที่ว่าเป็นเพียงฝั่งสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่แคนดิเดตนายกจำเป็นจะต้องได้เสียงข้างมากจากทั้งสองสภา ในตอนนี้วุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งในยุครัฐบาลทหารยังคงลงคะแนนเสียงไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับกองทัพ ขณะที่พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ต่างไม่มีตัวแทนในวุฒิสภา
การลงคะแนนโหวตนายกฯ เป็นอย่างไร?
ผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย จะต้องได้รับเสียงสนับสนุน 376 เสียงจาก 750 เสียงของทั้งสองสภา หากไม่มีผู้ได้รับการเสนอชื่อคนไหนไปถึงจุดนั้นได้ จะมีการเสนอชื่อแคนดิเดตคนอื่น ๆ ขึ้นมาได้อีก และทั้งส.ส.และส.ว. จะเดินหน้าลงคะแนนต่อไปจนกระทั่งถึงเป้าหมาย 376 เสียง
โดยฝั่งแกนนำจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรคให้การสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล วัย 42 ปี เป็นแคนดิเดตนายก
‘พิธา’ ต้องการเสียงอีกเท่าไหร่?
แกนนำจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรคมี 312 เสียงอยู่ในมือ พิธาต้องการอีก 64 เสียงจากส.ส.พรรคอื่นหรือจากวุฒิสภา
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของรอยเตอร์ แนวทางของพรรคก้าวไกลที่มีแนวคิดปฏิรูปกองทัพและแก้กฎหมาย ม.112 อาจจะดูมากเกินไปสำหรับบรรดาส.ว. ซึ่งหากส.ว.ยังคงลงคะแนนเสียงไปในแนวทางเดียวกับเมื่อปี 2019 พิธาอาจไม่ได้ไปต่อในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย แต่มีรายงานว่าส.ว.บางรายต้องการโหวตแตกแถว ซึ่งพิธาให้ความเชื่อมั่นว่าเขาจะได้เสียงสนับสนุนจากวุฒิสภา “เพียงพอ” แต่ผลลัพธ์ลักษณะนี้ยังไม่แน่ชัดนัก
ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักรัฐศาสตร์จาก ISEAS Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ ให้ทัศนะกับไทม์ว่า “มีความเป็นไปได้มากว่าพิธาจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอให้เป็นนายกฯ เนื่องจากแรงหนุนฝั่งส.ว.”
ยิ่งไปกว่านั้น พิธายังต้องได้เสียงจากส.ส.นอกพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งบางส่วนคัดค้านแนวทางของพรรคก้าวไกลอย่างมาก
จะเกิดอะไรขึ้นหากพิธาไม่ได้ไปต่อในฐานะนายกฯ?
มีความกังขาเกี่ยวกับการเป็นนายกฯ ของพิธา ว่าแคนดิเดตนายกฯ รายนี้ต้องรอผลการสืบสวนของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อสรุปว่า หัวหน้าพรรคก้าวไกลนั้นควรถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง เพราะข้อกล่าวหาว่า เขาถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อที่ปิดตัวไปแล้วหรือไม่
ทัศนะของ มาร์ค เอส. โคแกน อาจารย์จาก Kansai Gaidai University ของญี่ปุ่น ให้ทัศนะกับไทม์ว่า “ประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา ชี้ว่าพรรคฝ่ายค้านที่ได้คะแนนนำโด่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทยหรือพรรคอนาคตใหม่ .. ต่างถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างรวดเร็วโดยศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น” และว่าพรรคก้าวไกลมีความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคเหมือนกันกับพรรคอื่นๆ ก่อนหน้านี้เช่นกัน
ด้านรอยเตอร์มองว่า พรรคก้าวไกลอาจ “คำนวณผิดพลาด” ในการเสนอชื่อพิธาเป็นแคนดิเดตนายกเพียงคนเดียว แม้ว่าเขาจะได้รับการเสนอชื่ออีกครั้ง แต่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำพรรคร่วมที่ได้จำนวนส.ส.ในสภามาเป็นอันดับสองรองจากพรรคก้าวไกล ก็อาจใช้โอกาสนี้ในการเสนอหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของทางพรรคซึ่งอาจสั่นคลอนพลวัตของพรรคร่วมได้
คัตซึยูกิ ทาคาฮาชิ อาจารย์จากสถานประชาคมอาเซียนศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้มุมมองกับไทม์ว่า สถานการณ์นี้จะเป็นโอกาสสำหรับพรรคเพื่อไทย “หากพิธาขาดคุณสมบัติ(เป็นนายกฯ) ไม่มีแคนดิเดต(นายกฯ)เหลืออยู่สำหรับพรรคก้าวไกล” ขณะที่ “เพื่อไทยมีแคนดิเดตถึง 3 คน”
มีโอกาสแค่ไหนที่เพื่อไทยส้มหล่น?
ระหว่างที่พรรคก้าวไกลมีจุดยืนชัดเจนในการไม่ยอมรับรัฐบาลทหารและผลักดันการแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีคลุมเครือเกี่ยวกับแนวร่วมรัฐบาล ผู้สันทัดการเมืองบางส่วนคาดว่าพรรคเพื่อไทยอาจเข้าร่วมกับพรรคที่เอื้อประโยชน์กับกองทัพและสถาบันเพื่อให้มีความได้เปรียบสูงสุด
โคแกน อาจารย์จาก Kansai Gaidai University ของญี่ปุ่น ชี้ว่าท่าทีดังกล่าวเสี่ยงเกินไปและเป็นการมองแค่ระยะสั้น และบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยในหมู่ผู้สนับสนุน
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ฐิติพล ภักดีวานิช ให้ทัศนะกับไทม์ด้วยว่า เขานึกภาพไม่ออกว่ากลุ่มคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร จะหันมาจับมือกับคนกลุ่มเดียวกับที่โค่นล้มระบอบทักษิณตั้งแต่แรกเริ่มได้ และท่าทีนี้จะเป็นประโยชน์กับพรรคก้าวไกลให้ “แลนด์สไลด์” อีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า
มีโอกาสที่แคนดิเดตนอกพรรคร่วมฯจะได้เป็นนายกฯหรือไม่?
หากส.ว.โหวตค้านแคนดิเดตจากทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรี อาจมีโอกาสให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยพรรคแนวอนุรักษ์นิยม ที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคขึ้นมา และมีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกมากกว่า
รอยเตอร์มองว่า การเกิดทางตันทางการเมืองไม่ใช่สิ่งที่หลุดจากสมการการเมืองไทยในตอนนี้เท่าใดนัก ซึ่งรอยเตอร์จับตาพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ วัย 77 ปี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผู้ซึ่งกล่าวถึงตนเองว่าเป็นตัวกลางประสานความแตกแยกทางการเมือง เพราะหากพล.อ.ประวิตรสามารถบรรลุข้อตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคได้ เขาอาจได้คะแนนเสียงเพียงพอที่จะเป็นนายกฯ ได้เช่นกัน
ส่วนไทม์ กล่าวถึงอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่าหากเขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ รัฐบาลของอนุทินจะถูกรั้งไว้ทั้งจากข้อเท็จจริงที่ว่าแกนนำฝ่ายค้านจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและความยุ่งยากในการทำข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจากกลุ่มก้อนของพรรคแนวอนุรักษ์นิยม
โคแกน มองว่า “อนุทินจะเป็นนายกฯที่อ่อนแอมาก เป็นพรรคร่วมที่เปราะบางอย่างยิ่ง เพราะต้องยอมโอนอ่อนผ่อนปรนหลายอย่างเพื่อให้ได้จัดตั้งรัฐบาล” และว่า “จะมีแรงกดดันเพื่อรักษาอำนาจอย่างมาก” ซึ่งการคงอำนาจในลักษณะนี้จะอยู่ได้ไม่นานนัก อย่างเร็วที่สุดคือเดือนพฤษภาคมปีหน้า ที่อำนาจการโหวตเลือกนายกฯ ของวุฒิสภาจะหมดลง ซึ่งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะไม่สามารถคงอำนาจอยู่ต่อไปได้
มีโอกาสที่กองทัพจะยังคงอำนาจต่อไปหรือไม่?
ผู้เชี่ยวชาญต่างให้มุมมองกับไทม์ว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการก่อรัฐประหารอีกครั้ง หลังไทยต้องเจอกับรัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้งในเวลาไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าน้อยมาก แต่ก็ไม่อาจตัดความเป็นไปได้นั้นได้
หากการโหวตเลือกนายกยืดเยื้อ นี่อาจเปิดทางให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอชื่อแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญในกองทัพได้ทัน และมีโอกาสในการก่อรัฐประหารได้ เมื่อการแต่งตั้งโยกย้ายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้
พอล แชมเบอร์ อาจารย์จากแห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยกับไทม์ว่า ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียวที่การก่อรัฐประหารอาจเกิดขึ้นระหว่างที่ไทยกำลังรอนายกฯคนใหม่ และว่ามันอาจเกิดขึ้นได้ “หากกลุ่มจงรักภักดีต่อสถาบันอย่างสุดโต่งรู้ว่า(พิธา)จะได้เป็นนายกฯอย่างแท้จริง และต้องการหยุดเขา(ด้วย)การใช้กำลังทหาร” แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น “สถาบันยังคงมีทางเลือกมากมายสำหรับเรื่องนี้”
ขณะที่ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักรัฐศาสตร์จาก ISEAS Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “ในเมื่อไม่มีเส้นตายใด ๆ (ประยุทธ์) ยังคงเป็นรักษาการนายกฯ และยังสามารถทำหน้าที่นี้ต่อไปจนกว่านายกฯ คนใหม่ได้รับเลือกขึ้นมา”
- ที่มา: วีโอเอ รอยเตอร์และไทม์