นักวิเคราะห์ชี้ ทิศทางไทยปมเมียนมา เปลี่ยนไปในยุครัฐบาลใหม่

  • VOA

ภาพกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มกะเรนนี ที่รัฐกะยา เมียนมาร์ (ที่มา: รอยเตอร์)

ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมา มองท่าทีไทยในประเด็นของประเทศเพื่อนบ้าน ในจังหวะที่การต่อสู้ระหว่างกองทัพและกลุ่มต่อต้านกำลังทวีความระอุ ชี้ ไทยเน้นหนักประเด็นด้านมนุษยธรรมมากขึ้นหลังเปลี่ยนรัฐบาล แต่ควรสร้างการมีส่วนร่วมกับฝ่ายอื่นนอกจากรัฐบาลทหารด้วย

การรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 ตามมาด้วยความขัดแย้งที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างยาวนาน ไม่เพียงเท่านั้น ยังกลายเป็นโจทย์ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา 2,400 กิโลเมตร หลังจากเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม กระทรวงการต่างประเทศของไทยเพิ่งประกาศความพร้อมในการรับรองผู้ลี้ภัยที่อาจจะพลัดถิ่นข้ามฝั่งมา

การแถลงข่าวหลังการพบกันระหว่างนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย และตาน ฉ่วย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า ทั้งสองชาติเห็นชอบที่จะมีชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้พลัดถิ่นในเมียนมา

ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิเคราะห์ด้านสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า รัฐบาลไทยชุดใหม่เปลี่ยนแนวทางการในประเด็นเมียนมาอย่างชัดเจน แต่หากไทยต้องการมีบทบาทในการบรรเทาความขัดแย้ง ก็ต้องนับรวมคู่ขัดแย้งอื่น ๆ เข้ามาด้วย ไม่เพียงแค่พูดคุยกับรัฐบาลกลางเพียงอย่างเดียว

“รัฐบาลเศรษฐากำลังมีแนวทางที่ต่างออกไปเมื่อเทียบกับรัฐบาลประยุทธ์ นั่นคือการมีบทบาทด้านมนุษยธรรมในความขัดแย้งที่เมียนมา” และ “พวกเขา(รัฐบาลไทย)จำเป็นต้องคุยกับประชาชนในพื้นที่ กลุ่มประชาสังคมและกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาเหล่านี้คือคนที่ได้รับผลกระทบ”

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พันธมิตรกลุ่มต่อต้านเปิดปฏิบัติการโจมตีภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการ 1027” ที่เริ่มต้นการโจมตีที่รัฐฉานตอนเหนือ ก่อนที่กลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่น ๆ จะปฏิบัติการจู่โจมกระจายต่อไปทั่วประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลทหารเมียนมาสูญเสียการควบคุมในเมืองหลายสิบแห่งและป้อมค่ายของทหารอีกหลายร้อยแห่ง จนถูกมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารครั้งล่าสุด

ผศ.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับวีโอเอก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลทหารเมียนมา ค่อนข้างมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ท่าทีของไทยที่เปลี่ยนไปภายใต้รัฐบาลใหม่ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่ ได้แก่ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ก็มีสัญญาณที่ดีขึ้นเนื่องจากมีการพูดคุยในระดับรัฐสภา รัฐบาล และตัวแสดงด้านการช่วยเหลือมนุษยธรรมเป็นจำนวนมาก

ลลิตากล่าวว่า “เป็นสัญญาณที่ดีมากกว่ารัฐบาลประยุทธ์แน่นอน ดิฉันคิดว่าไทยมีสิ่งที่ทำได้เยอะ เช่นการเป็นตัวกลางระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในเมียนมา ดิฉันอยากจะเห็นก้าวย่างเล็ก ๆ ในเรื่องการเจรจาสันติภาพระหว่างทุกฝ่าย หรือกลุ่มส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย”

ตุน อ่อง ชเว ตัวแทนจากกลุ่มรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รัฐบาลเงาฝ่ายตรงข้ามกับคณะรัฐประหาร ระบุว่าความช่วยเหลือของไทยในเมียนมาจะไม่ราบรื่น หากไม่นับรวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม

ตัวแทน NUG กล่าวว่า “ปัจจุบัน เหยื่อนับล้าน และชุมชนที่เปราะบาง ต่างอาศัยอยู่ในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและพันธมิตร หากต้องการสร้างผลกระทบที่มีนัยสำคัญ รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับ NUG และพันธมิตร”

  • ที่มา: VOA