วัคซีนมาลาเรียทดลองทำให้เชื้อมาลาเรียอ่อนแอลง

  • Jessica Berman
ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐกำลังพัฒนาวัคซีนมาลาเรียที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กที่ถูกยุงที่เป็นพาหะของโรคกัด เจ็บป่วยรุนแรงจากมาลาเรียหลังจากค้นพบว่าเชื้อมาลาเรียมีโปรตีนตัวหนึ่งที่ทำให้อาการป่วยรุนแรง

เชื้อมาลาเรียมีโปรตีนตัวหนึ่งที่เรียกว่า S-E-A ที่สามารถทะลุทะลวงผ่านเซลล์เม็็ดเลือดเเดงที่ติดเชื้อ ส่งผลให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น แต่นักวิจัยในสหรัฐค้นพบว่าเชื้อมาลาเรียที่ไร้โปรตีน S-E-A จะติดค้างอยู่ภายในเซลล์เม็ดเลือดแดงและจะค่อยๆตายลง ก่อนจะถูกกำจัดออกไปจากร่างกายเองในที่สุด

คณะนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Brown University ที่เมือง Providence ใน Rhode Island กับทีมนักวิจัยที่โรงพยาบาลเด็ก Boston ที่รัฐ Massachusetts เป็นผู้ค้นพบโปรตีนดังกล่าวนี้

คุณ Jonathan Kurtis ผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ Center for International Health Research ที่โรงพยาบาล Rhode Island เป็นผู้ร่างรายงานเกี่ยวกับผลการวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ science ไปเมื่อไม่นานมานี้

เขากล่าวว่าวัคซีนมาลาเรียที่กำลังอยู่การวิจัยตัวนี้มีภูมิต้านทานร่างกายที่ต่อต้านโปรตีนในเชื้อมาลาเรีย และทีมงานได้นำวัคซีนไปทดสอบกับหนูทดลอง คุณ Kurtis หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าหนูทดลองที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้มีอาการป่วยจากมาลาเรียเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและมีเชื้อมาลาเรียในร่างกายน้อยกว่าหนูทดลองที่ไม่ได้รับวัคซีนชนิดนี้

หลังจากนั้ ทีมนักวิจัยได้ทำการวัดดูระดับภูมิต้านทานโปรตีนมาลาเรีย S-E-A ในกระเเสเลือดของเด็กในประเทศเเทนซาเนียจำนวน 785 คน

คุณ Kurtis กล่าวว่า ทีมงานพบว่าเด็กที่มีภูมิต้านทานโปรตีนมาลาเรีย S-E-A จะไม่ล้มป่วยรุนเเรงจากเชื้อมาลาเรีย ต่างจากกับเด็กที่ไม่มีภูมิต้านทานโปรตีนตัวนี้

ทีมนักวิจัยทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดที่จัดเก็บจากเด็ก 140 คนในประเทศเคนยาเมื่อปีคริสตศักราช 1997 พวกเขาพบว่าในเด็กที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโปรตีนมาลาเรีย S-E-A ในช่วงที่มีการระบาดของโรคสูง มีปริมาณเชื้อมาลาเรียในกระเเสเลือดต่ำกว่าเด็กที่ไม่มีภูมิคุ้มกันตัวนี้ถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ส่วนในกลุ่มเด็กชาวแทนซาเนีย คุณ Kurtis หัวหน้าทีมวิจัยชี้ว่าเด็กที่มีภูมิต้านทานโปรตีน S-E-A ในกระเเสเลือด ไม่ล้มป่วยรุนแรงจากเชื้อมาลาเรียในช่วงฤดูกาลระบาด

เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าหากนำวัคซีนต่อต้านโปรตีน S-E-A ในมาลาเรียไปฉีดให้แก่คนในเขตที่มีการเเพร่ระบาดของโรค ทีมงานเชื่อว่าจะช่วยให้คนเหล่านี้สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาในร่างกายเพื่อป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากเชื้อมาลาเรียได้

ในขั้นต่อไป คุณ Kurtis หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าทีมนักวิจัยจะนำวัคซีนทดลองชนิดนี้ไปทดสอบกับลิงว่าได้ผลหรือไม่ และหากใช้ได้ผลในลิง ทีมนักวิจัยจะทำการทดสอบคุณภาพของวัคซีนมาลาเรียนี้ในคนต่อไป

คุณ Kurtis หัวหน้าการวิจัยกล่าวว่าเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาวัคซีนมาลาเรียก็เพื่อนำไปใช้ฉีดแก่เด็กๆ ในเขตที่มีการแพร่ระบาดของมาลาเรียทั่วโลก