ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นทิศทางนโยบายการเงินเดียวกันกับที่ธนาคารกลางในหลายประเทศปรับใช้ เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทั่วโลก ตามรายงานของเอพี
โดยเริ่มต้นในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ธนาคารกลางยุโรป จะยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรยูโรเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ หรือ Quantitative Easing จากนั้นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ขณะที่ มีความเป็นไปได้ว่า ECB จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในระดับที่มากขึ้นกว่าเดิมในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งอาจถึงระดับ 0.5% ได้หากทิศทางเงินเฟ้อยังไม่ดีขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ธนาคารกลางยุโรป ย้ำยืนยันว่า ภาวะเงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาสำคัญ โดยปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อใน 19 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร พุ่งสูงทำสถิติใหม่ที่ 8.1% ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ECB อยู่ที่ 2% เท่านั้น
ประธานธนาคารกลางยุโรป คริสติน ลาการ์ด กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสบดีว่า การรุกรานยูเครนอย่างไม่ยุติธรรมของรัสเซีย ส่งผลต่อเศรษฐกิจยุโรปและพื้นที่อื่นในโลก และว่า สงครามนี้ “ทำให้การค้าหยุดชะงัก นำไปสู่การขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วน และดันราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ให้ปรับตัวสูงขึ้น”
ธนาคารกลางยุโรป ประกาศแผนปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ นับเป็นการสิ้นสุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในยุโรปด้วยอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำมากที่นำมาใช้ในช่วงวิกฤตการเงินโลก เมื่อปี ค.ศ. 2008 แต่เป็นทิศทางนโยบายการเงินที่สอดรับกับธนาคารกลางทั่วโลก
อย่างเมื่อเดือนพฤษภาคม ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% และมีแผนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปีนี้ ส่วนแบงค์ชาติอังกฤษ ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
- ที่มา: เอพี