“อียู” กับอนาคตที่ซวนเซท่ามกลางแรงกดดันหลายด้าน

EU logo

นักวิเคราะห์ชี้ว่าหน้าตาของสหภาพยุโรปจะเปลี่ยนไปเพราะเจอปัญหารอบด้าน

Your browser doesn’t support HTML5

“อียู” ซวนเซท่ามกลางแรงกดดันหลายด้าน

บรรดาผู้ออกนโยบายในยุโรปและนักวิเคราะห์ มักเปรียบเทียบการรวมตัวกันของยุโรปว่าเป็นเหมือนรถจักรยานที่จะต้องปั่นไปข้างหน้าตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ล้ม

และแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะอ้างว่า จักรยานอียูจะยังปั่นไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา หลายคนเกรงว่ารถจักรยานคันนี้กำลังซวนเซมากขึ้นกว่าเดิม

ตั้งแต่การลงประชามติของชาวอังกฤษเพื่อถอนตัวออกจากอียู ความพยายามของโปแลนด์และฮังการีในการต่อต้านความเป็นสหภาพ ผลการเลือกตั้งที่เลวร้ายที่สุดตั้งเเต่ปี ค.ศ. 1945 ของพรรคอนุรักษ์นิยมเครือสหภาพของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เองเกลล่า แมร์เคิล เเละค่านิยมขวาจัดที่เพิ่มขึ้นในเยอรมนี เพราะมีความกลัวกันว่าความเป็นอธิปไตยของประเทศตกอยู่ในกำมือของผู้นำอียูในกรุงบรัซเซลส์มากเกินไป

Charles Kupchan ผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรป กล่าวว่า เกิดคำถามว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นขึ้นของจุดจบของยุโรปที่เรารู้จักกันหรือไม่? หรือว่าสหภาพยุโรปกำลังจะกลับไปเป็นยุโรปที่เน้นความเป็นปัจเจกชาติที่ปกป้องความเป็นอธิปไตยของตนอย่างเเข็งขัน เเละปิดกั้นทางชายแดน?

Jeffery Gedmin แห่งสภาด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศ กล่าวว่า แนวคิดตั้งต้นด้านการเมืองเเละความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ที่ช่วยสร้างความสงบเเละความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเเก่อียูมานานหลายสิบปี กำลังล้มเหลวอย่างรวดเร็ว

Gedmin กล่าวว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มากับโลกดิจิทัลภายในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโลกาภิวัตน์ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี การก่อการร้าย การบ่อนทำลายจากรัสเซีย การแยกตัวของอังกฤษหรือ Brexit เเละการตัดทอนของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ กลุ่มคนชนชั้นนำในสังคมที่เป็นฝ่ายบริหารประเทศ ถูกมองว่าไม่มีความสามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะแก้ปัญหาของคนทั่วไป

Charles Kupchan ผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรป กล่าวว่า มีความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้น จากคนที่รู้สึกว่าความฝันที่จะมีชีวิตแบบชนชั้นกลางได้สลายหายไป

ด้าน Stephen Szabo แห่งมหาวิทยาลัย จอห์นส์ ฮอบคินส์ (Johns Hopkins University) กล่าวว่า ยุโรปต้องแก้ปัญหาที่ประชาชนกังวล เพื่อให้คนทั่วไปยอมรับว่าอียูยังมีบทบาทที่สำคัญอยู่

เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทางสังคมเเละการเมืองในยุโรป เนื่องจากมีผู้ย้ายถิ่นเเละผู้ขอลี้ภัยนับล้านคนได้อพยพเข้าไปในยุโรป ส่วนมากเป็นชาวมุสลิม ซึ่ง Gedmin แห่งสภาด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศ ชี้ว่า นี่ทำให้ชาวยุโรปจำนวนมากเกิดความรู้สึกว่า ตนกลายเป็นคนต่างชาติในประเทศบ้านเกิด

Gedmin กล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้คนในยุโรปเริ่มคิดถึงสัญชาติ ความรักชาติ ความเป็นตัวตน ความเป็นหนึ่งเดียวทางสังคม ความมั่นคง เเละความสัมพันธ์กับชาติอื่นๆ เเละความรู้สึกเหล่านี้กำลังกลายเป็นเเรงผลักดันให้ยุโรปเปลี่ยนแปลง

การกำเนิดขึ้นของสหภาพยุโรป (EU) เกิดจากการผลักดันของเยอรมนี ฝรั่งเศส เเละอังกฤษ ผู้นำของฝรั่งเศสเเละเยอรมนีมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งเงินสกุลยูโรเพื่อใช้ร่วมกัน ฝรั่งเศสเเละอังกฤษมีบทบาทหลักในการจัดตั้งนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่ใช้ร่วมกัน

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุโรปยังได้รับแรงสนับสนุนอย่างเข้มเเข็งจากสหรัฐฯ เเต่ Stephen Szabo แห่งมหาวิทยาลัย จอห์นส์ ฮอบคินส์ กล่าวว่า มาถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ไม่สนับสนุนอียูเหมือนในอดีตอีกแล้ว

รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เน้นย้ำถึงการเเบ่งภาระค่าใช้จ่ายเเละความรับผิดชอบอย่างเท่าเทียม ระหว่างสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรในยุโรป

Stephen Szabo กล่าวว่า เเม้หลังการนำของนายทรัมป์ ตนคิดว่าสหรัฐฯ จะไม่กลับไปมีบทบาทที่ช่วยส่งเสริมสหภาพยุโรปอย่างที่เคยทำมาตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมาอีกแล้ว เขาคิดว่านี่เป็นสภาพที่คับขันของชาวยุโรป เเละอนาคตของยุโรปอยู่ในกำมือของชาวยุโรปเอง

นักวิเคราะห์ส่วนมากเห็นด้วยว่า ยุโรปจะต้องเรียนรู้ที่จะเอาชนะปัญหาแทนที่จะหลบหลีกเพื่อให้ผ่านพ้นมรสุมที่กำลังถาโถมอยู่ในขณะนี้ไปได้

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)