อียูเตรียมแบนการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง

Plastic and glass waste lies on the ground during the Tamborrada on the Day of San Sebastian in the Basque coastal town of San Sebastian, Spain, Jan. 20, 2018.

คณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรป หรือ อียู มีมติเมื่อวันจันทร์ ในการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น คอตตอนบัดส์และหลอดพลาสติก พร้อมตั้งเป้าให้กลุ่มประเทศในอียูลดปริมาณพลาสติกกลุ่มนี้ให้ได้ร้อยละ 90 ภายใน 7 ปีข้างหน้า

มาตรการใหม่นี้ จะยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันที่สามารถใช้ซ้ำได้ หรือทำจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแทน

เป้าหมายจากนี้ คือการให้ประเทศสมาชิกอียู ยกเลิกการใช้ขวดพลาสติกให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปี 2568 รวมทั้งให้บริษัทผู้ผลิตพลาสติกลงทุนกับการบริหารจัดการขยะเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ

ด้านนายฟรานส์ ทิมเมอร์แมนส์ รองคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป บอกว่า ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่ และสหภาพยุโรปต้องร่วมมือกันในการจัดการปัญหานี้ เพราะขยะพลาสติกเหล่านี้จะส่งผลต่ออากาศ ดิน แหล่งน้ำ และที่อาหารของเราในที่สุด

ทั้งนี้ มาตรการของคณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาและสมาชิกรัฐสภาของสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบก่อนการเลือกตั้งของสหภาพยุโรป ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า

การสะสมของพลาสติกในแหล่งน้ำทั่วโลกกลายเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลทั่วโลก เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนถึงผลกระทบจากขยะพลาสติกที่มีต่อห่วงโซ่อาหาร ตามรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Scientific Reports ประเมินว่า มีขยะพลาสติกราว 79,000 ตัน หรือประมาณ 1 ล้านล้าน กับอีก 8 แสนล้านชิ้น ที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีทั้งตาข่ายดักปลา กล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติก และเชือกพลาสติก