เมื่อวันพุธ นายอีริวาน ยูซอฟ ทูตพิเศษอาเซียนด้านเมียนมา ระบุว่า ประเทศอาเซียนกำลังหารือว่าอาจไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะจัดขึ้นในปลายเดือนนี้ เนื่องจากเมียนมายังไม่ปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อที่อาเซียนเคยตกลงเมื่อเดือนเมษายน ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ทั้งนี้ เมียนมาอยู่ในสภาวะโกลาหลมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นำโดยพลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย ทำให้ประชาธิปไตยในเมียนมาที่ดำเนินมาสิบปีหยุดชะงักลง การกลับมามีอำนาจของทหารยังทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นทั้งในเมียนมาและต่างประเทศ
นายอีริวานระบุว่า อาเซียนหารืออย่างเคร่งเครียดเรื่องการไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดออนไลน์ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม หลังมาเลเซียและประเทศสมาชิกบางประเทศแสดงความกังวลต่อประเด็นดังกล่าว
นายจอ มิน ตุน โฆษกของรัฐบาลทหารเมียนมา มิได้ตอบรับการติดต่อจากสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันพุธ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาระบุว่า เมียนมาให้ความร่วมมือกับอาเซียนโดย “ไม่ผ่อนปรนอำนาจอธิปไตยของตน”
ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยวิจารณ์อาเซียนว่า พยายามร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมา โดยกลุ่มสมาชิกสภาเมียนมาที่ถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหาร ประกาศว่า กองทัพเมียนมาเป็นกลุ่มก่อการร้าย และการที่อาเซียนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมาก็จะเป็นการมอบความชอบธรรมให้กับรัฐบาลดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจะถือเป็นก้าวสำคัญของอาเซียน ทั้งนี้ อาเซียนดำเนินนโยบายโดยการลงฉันทามติ และมักใช้การสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิกมากกว่าการเผชิญหน้า
นายอีริวาน ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ตอบสนองต่อคำขอพบนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนเมียนมาที่ถูกกองทัพควบคุมตัว ทูตอาเซียนผู้นี้ยังระบุด้วยว่า เขาทำเรื่องขอเดินทางเยือนเมียนมาไปยังนายวันนา เมือง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่กองทัพเมียนมาแต่งตั้ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
แหล่งข่าวใกล้ชิดกับรัฐบาลมาเลเซียระบุว่า ทูตอาเซียนอาจยังไม่ได้เดินทางเยือนเมียนมาก่อนการประชุมสุดยอด ตามแผนเดิมที่ทางอาเซียนเคยตั้งใจไว้
สหประชาชาติระบุว่า มีผู้คนกว่า 1,100 คนถูกสังหารนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมา โดยส่วนมากถูกสังหารระหว่างที่กองกำลังความมั่นคงสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย และมีผู้ถูกจับกุมอีกหลายพันคน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนสูงเกินจริง และมีเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงถูกสังหารด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ฉันทามติห้าข้อของอาเซียนต่อเมียนมา รวมถึงการมุ่งมั่นเจรจากับทุกฝ่าย การอนุญาตให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังเมียนมา และการยุติความรุนแรง
ประวัติการปกครองโดยเผด็จการทหารอย่างยาวนานของเมียนมา รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งในประเด็นที่ท้าทายที่สุดต่อบูรณภาพและนโยบายไม่แทรกแซงภายในของอาเซียน
เมื่อวันจันทร์ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนระบุระหว่างการประชุมออนไลน์ว่า พวกเขาผิดหวังที่สภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC โดยกองทัพเมียนมา ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามฉันทามติ
นายซัฟฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซีย ทวีตข้อความเมื่อวันจันทร์ว่า หากไม่มีความคืบหน้าจาก SAC ก็อาจเป็นการยากที่จะให้มีตัวแทนจากรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดได้ เขายังระบุด้วยว่า ทูตอาเซียนพยายามทำทุกทางเท่าที่จะทำได้เพื่อให้แผนดังกล่าวมีความคืบหน้า
(ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์)