ยูเอ็นเรียกร้องให้ 'สิทธิทางสิ่งเเวดล้อม' เป็นสิทธิมนุษยชน

In a Aug. 13, 2017 file photo, people take part in a protest against large-scale government logging in the Bialowieza Forest, Poland.

Your browser doesn’t support HTML5

Environmental Rights Initiative

ภาพยนตร์ซึ่งฉายตอนก่อนเริ่มการประชุมของบรรดานักอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม ที่นครเจนีวา มีเสียงของนักพิทักษ์สิ่งเเวดล้อมชาวเคนยา Phyllis Omido เป็นผู้บรรยาย เธอประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้ปิดโรงงานผลิตสารตะกั่วในสลัมแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองมุมบาซา (Mombasa) ที่ปล่อยควันเสียที่เป็นพิษสู่อากาศ ทำให้คนท้องถิ่นเสียชีวิตเเละได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งหนึ่งในเหยื่อเป็นบุตรของเธอเอง

ในขณะที่เธอชนะการต่อสู้ครั้งนี้ นีแอมฮ์ แบรนิแกน (Niamh Brannigan) ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารเพื่อการดูแลสิ่งเเวดล้อมประจำโครงการสิ่งเเวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การข่มขู่คุกคามต่อนักรณรงค์ด้านสิ่งเเวดล้อมยังดำเนินอยู่

เบรนนิแกน กล่าวว่า โครงการสิ่งเเวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้รับแจ้งว่านักพิทักษ์สิ่งเเวดล้อมคนสำคัญในฟิลิปปินส์เพิ่งถูกยิงเสียชีวิต เพราะเขาเป็นผู้นำในการต่อต้านการก่อสร้างเขื่อนพลังงานน้ำ

ในระหว่างปี ค.ศ. 2002 เเละ 2013 องค์การสหประชาชาติ รายงานว่า มีประชาชน 908 คน ใน 35 ชาติทั่วโลก ถูกสังหารเพราะมีบทบาทด้านการปกป้องสิ่งเเวดล้อม

รองข้าหลวงใหญ่พื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เคท กิล มอร์ (Kate Gilmore) กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนทุกด้านขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม แต่คนยังคงสร้างมลพิษต่อทรัพยากรธรรมชาติของโลกเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เป็นอันตรายต่อชีวิตเเละความเป็นอยู่ของคนรุ่นอนาคต

กิลมอร์ กล่าวว่า ทางโครงการสิ่งเเวดล้อมแห่งสหประชาชาติเสนอว่า ผู้สร้างมลพิษต่อสิ่งเเวดล้อมจะต้องเป็นผู้ชดเชยความเสียหาย แต่ในทางปฏิบัติ คนที่มีส่วนสร้างมลพิษน้อยที่สุดเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ทางโครงการต้องการพิทักษ์สิ่งเเวดล้อมเเละพิทักษ์คนที่ปกป้องสิ่งเเวดล้อม เเละถือว่าคนที่ละเมิดกฏหมายต้องรับผิดชอบ

เบียนก้า เเจ็กเกอร์ (Bianca Jagger) ประธานเเละหัวหน้าฝ่ายบริหารของ Bianca Jagger Human Rights Foundation เรียกร้องให้คนผิดถูกนำตัวไปลงโทษ เเต่เธอยอมรับว่าเป็นงานที่ยาก เพราะรัฐบาลในประเทศต่างๆ มักร่วมมือกับบริษัทนานาชาติต่างๆ ที่เอาเปรียบต่อสิทธิของคนท้องถิ่นในประเทศ

เธอกล่าวว่าจำเป็นต้องเรียกร้องให้บริษัทนานาชาติทุกบริษัท หรือเเม้เเต่บริษัทแห่งชาติที่เกี่ยวข้องในโครงการสร้างเขื่อน ทำเหมือง เเละการทำผลประโยชน์จากที่ดินโดยยึดที่ดินจากคนท้องถิ่นเเละที่ดินของคนชนเผ่าที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ จำเป็นที่ต้องหยุดยั้งการกระทำเช่นนี้

ด้าน จอห์น น็อคซ์ ตัวเเทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนเเละสิ่งเเวดล้อม เป็นผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันให้มีโครงการด้านสิทธิทางสิ่งเเวดล้อม หรือ Environmental Rights Initiative ที่มุ่งส่งเสริมปกป้องเเละเคารพต่อสิทธิมนุษยชนเเละสิ่งแวดล้อม เขากล่าวว่า มีความสำคัญอย่างมากที่ต้องทำมากกว่านี้เพื่อปกป้องผู้พิทักษ์สิ่งเเวดล้อม

น็อคซ์ กล่าวว่า มีประชาชนโดยเฉลี่ย 4 คนทั่วโลกถูกฆาตกรรมต่อสัปดาห์เพราะพยายามปกป้องสิ่งเเวดล้อม เเละเราไม่สามารถปกป้องคนที่พยายามพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ทุกสิ่งที่สหประชาชาติกำลังทำอยู่ก็จะไม่มีความหมายอะไร ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่จะต้องปกป้องชีวิตของคนเหล่านี้

น็อคซ์ กล่าวว่า การปกป้องสิทธิของคนที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้รับการยอมรับเเละนำไปปฏิบัติเเล้วในมากกว่า 100 ชาติทั่วโลก เเต่ในทางตรงกันข้าม เขากล่าวว่า สหประชาชาติยังไม่มีการบังคับใช้ข้อปฏิบัตินี้

เเละถึงเวลาเเล้วที่สหประชาชาติต้องตระหนักว่าสิทธิในการมีสิ่งเเวดล้อมที่ดี ถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)