การหยั่งรู้อารมณ์ความรู้สึกเป็นได้ทั้งทักษะและลักษณะนิสัย

Lily Hendrickx, 83, a resident at Belgian nursing home "Le Jardin de Picardie" enjoys hugs and cuddles with Marie-Christine Desoer, the director of the residence, through a wall made with plastic sheets to protect against potential coronavirus disease.

Your browser doesn’t support HTML5

Empathy Is Both a Trait and a Skill

การสามารถหยั่งรู้อารมณ์ความรู้สึกเพื่อเข้าใจและมีความรู้สึกร่วมกับผู้อื่นได้นั้นช่วยสร้างสัมพันธภาพให้แข็งแกร่ง และยังเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการแก้ไขความขัดแย้ง การเข้าอกเข้าใจ และการสร้างความผูกพันกับผู้อื่นด้วย

Jennifer Lerner นักวิทยาศาสตร์ด้านจิตวิทยาผู้สอนวิชาเกี่ยวกับศาสตร์การตัดสินใจที่ Harvard Kennedy School กล่าวว่ามนุษย์เราต้องการทั้งทักษะและลักษณะนิสัยของการหยั่งรู้ความรู้สึกของผู้อื่นเพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ และในเวลาเช่นนี้ที่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 และพฤติกรรมรุนแรงในเรื่องการเหยียดสีผิวทำให้ผู้คนต้องทุกข์ใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างถ่องแท้ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ได้เกิดกับเราโดยตรงก็ตาม

ส่วน Sarah Konrath รองศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเกี่ยวกับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่มหาวิทยาลัย Indiana กล่าวว่า มนุษย์เราจำเป็นต้องมีทั้งความเห็นอกเห็นใจและความรู้สึกร่วมกับผู้อื่น เพราะคุณสมบัติดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เราทำอะไรสักอย่างในเวลาที่เห็นคนอื่นกำลังมีความทุกข์

อย่างไรก็ตาม มีคำสองคำซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ Empathy และ Sympathy

โดยอาจารย์ Konrath อธิบายว่า Empathy หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้น คือความสามารถในการหยั่งรู้อารมณ์ความรู้สึก หรือการสามารถสร้างความรู้สึกร่วมที่ทำให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างถ่องแท้ เช่นการรับรู้เมื่อลูกของคุณมีความกลัวและต้องการกำลังใจ หรือรู้สึกตื่นเต้นและดีใจเช่นเดียวกับเพื่อนที่บอกข่าวว่าเขากำลังจะแต่งงาน ในขณะที่ Sympathy คือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจหรือสงสารที่เห็นผู้อื่นเจ็บปวดหรือมีทุกข์ อย่างไรก็ตามความผิดพลาดที่มักพบเห็นทั่วๆ ไป คือการที่คนเรามักรู้สึกสงสารก่อนที่จะทำความเข้าใจหยั่งรู้ความรู้สึกของบุคคลนั้นได้อย่างถ่องแท้

การที่จะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นหรือ Empathy นั้นอาจเริ่มจากความพยายามสังเกตดูสัญญาณอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางสีหน้า น้ำเสียง ท่าทาง คำพูดและอื่นๆ จากนั้นจะต้องพยายามเชื่อมโยงสัญญาณที่ว่านี้กับสิ่งที่คุณทราบเกี่ยวกับบุคคลนั้นรวมทั้งสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะเข้าใจความรู้สึกได้อย่างถ่องแท้

และข่าวค่อนข้างดีก็คือ การศึกษาชี้ว่าความสามารถหยั่งรู้อารมณ์และการมีความรู้สึกร่วมกับผู้อื่นนั้นเป็นได้ทั้งทักษะและมาจากลักษณะนิสัยของคนเรา

Sarah Konrath จากมหาวิทยาลัย Indiana กล่าวว่างานวิจัยบางชิ้นพบว่ามียีนเฉพาะเจาะจงที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนี้ เช่นยีนที่กระตุ้น oxytocin ซึ่งเป็น "ฮอร์โมนของความรัก" ที่เกิดขึ้นเมื่อเราสัมผัสแตะต้องกับคนอื่นและช่วยให้เกิดความรู้สึกผูกพัน ซึ่งยีนที่ว่านี้อาจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่นการรับรู้และความไว้วางใจอีกด้วย

ส่วนในแง่ทักษะนั้น การหยั่งรู้อารมณ์หรือ Empathy สามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว โดยอาจเริ่มด้วยการฝึกใช้ความรู้สึกนี้ในความสัมพันธ์กับคนอื่น เช่นในเวลาที่พูดคุยกับใครก็ลองพยายามจินตนาการว่าชีวิตของคนๆ นั้นเป็นอย่างไร ลองอ่านภาษากาย และใช้การฟังอย่างไตร่ตรองเพื่อให้เข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของคู่สนทนา มากกว่าที่จะเตรียมตอบโต้ในขณะที่เขากำลังพูดอยู่

หรือในระหว่างการสนทนาให้เน้นความสนใจและเวลากับการฟังอย่างเต็มที่ จากนั้นก็ทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อให้คู่สนทนารู้สึกว่าตนเป็นที่เข้าใจอย่างแท้จริง

นอกจากนี้การใช้เวลากับเด็กทารกและสัตว์ก็อาจช่วยได้เช่นกัน เนื่องจากเด็กและสัตว์ไม่สามารถแสดงความต้องการด้วยคำพูดได้ ดังนั้นคุณจะต้องประเมินความต้องการและหยั่งรู้อารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นด้วยสัญชาตญาณและประสบการณ์

และเมื่อคุณสามารถเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นรวมทั้งมีความรู้สึกร่วมได้มากขึ้นแล้ว ผลที่จะตามมาก็คือคนรอบข้างในชีวิตของคุณจะรู้สึกว่าได้รับความรัก ความสนับสนุน และความใส่ใจ มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง