สรุปประเด็นสำคัญเมื่อ ‘อิลอน มัสก์’ เปิดศักราชใหม่ให้กับ ‘ทวิตเตอร์’

Musk-Twitter

อภิมหาเศรษฐี อิลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทรถไฟฟ้า เทสลา ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ ‘ทวิตเตอร์’ อย่างเต็มตัวในวันพฤหัสบดี และเริ่มต้นทำหน้าที่ด้วยการปลดผู้บริหารระดับสูงที่ตนกล่าวหาว่า ทำให้ตนเข้าใจผิดและไม่ยอมให้ความกระจ่างเกี่ยวกับแผนการปรับปรุงการทำธุรกิจทรงอิทธิพลแห่งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

ก่อนจะได้เข้าครอบครอง ‘ทวิตเตอร์’ ได้ มัสก์ ประกาศว่า ตนต้องการจัดการกับบัญชีสแปมและบัญชีปลอมทั้งหลายที่มีอยู่ในสื่อโซเชียลแห่งนี้ และแก้ไขอัลกอริทึมที่ควบคุมว่าเนื้อหาใดควรปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์ม รวมทั้งป้องกันไม่ให้สื่อแห่งนี้กลายมาเป็นพื้นที่สะท้อนภาพความเกลียงชังและความแตกแยก พร้อม ๆ กับทำการจำกัดการเซนเซอร์เนื้อหาด้วย

แต่ในวันนี้ อภิมหาเศรษฐีรายนี้ก็ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดวิธีที่จะนำพาไปสู่เป้าหมายดังกล่าว และไม่ได้ออกมาระบุว่า จะให้ผู้ใดทำหน้าที่ดูแลบริษัทที่เพิ่งซื้อมานี้ ทำให้พนักงานราว 7,500 คนอยู่ในภาวะประหวั่นและสับสนไม่แน่ใจเกี่ยวกับอนาคตของตน

ทั้งนี้ มัสก์ ประกาศในวันพฤหัสบดีว่า ตนไม่ได้เข้าซื้อกิจการ ‘ทวิตเตอร์’ เพื่อที่จะทำเงิน แต่ “เพื่อพยายามช่วยมนุษยชาติ ที่ผมรัก”

หลังได้รับการยืนยันข้อสรุปการเข้าซื้อกิจการแล้ว มัสก์ สั่งปลด ปารัก อะกราวาล ซีอีโอคนปัจจุบัน และ เน็ด ซีกัล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (ซีเอฟโอ) รวมทั้ง วิจายา กัดเด หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและนโยบายของบริษัทสื่อสังคมออนไลน์แห่งนี้ ตามข้อมูลจากผู้ที่ใกล้ชิดกับประเด็นดังกล่าว โดย มัสก์ กล่าวหาทั้งหมดว่า ทำให้ตนและนักลงทุนเข้าใจผิดเกี่ยวกับจำนวนบัญชีปลอมที่มีอยู่ใน ‘ทวิตเตอร์’

แหล่งข่าวดังกล่าวยังกล่าวว่า อะกราวาล และ ซีกัล นั้นอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในนครซานฟรานซิสโก ขณะที่ มีการสรุปข้อตกลงซื้อกิจการ โดยทั้งคู่ถูกเจ้าหน้าที่เชิญออกนอกบริษัททันทีหลังกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้นลง

รอยเตอร์พยายามขอความเห็นจาก ‘ทวิตเตอร์’ และ มัสก์ รวมทั้งผู้บริหารคนอื่น ๆ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ขณะจัดทำรายงานข่าวชิ้นนี้

การเข้าซื้อกิจการ ‘ทวิตเตอร์’ ด้วยข้อเสนอมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์โดย มัสก์ ที่เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา กลายมาเป็นเหมือนตำนานความพยายามเข้าซื้อธุรกิจที่ประสบปัญหาและมีเรื่องพลิกไปมาอยู่ตลอดจนทำให้หลายฝ่ายไม่แน่ใจว่า อภิมหาเศรษฐีรายนี้จะได้เป็นเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำของโลกแห่งนี้ได้จริงหรือไม่ จนกระทั่งเมื่อวันพุธ เมื่อเจ้าตัวทำการเปลี่ยนชื่อในบัญชีใช้งานทวิตเตอร์ของตนเป็น “Chief Twit” และมีข่าวจากวงในว่า จะมีการบรรลุข้อตกลงซื้อขายก่อนสิ้นเดือนนี้แล้ว

FILE PHOTO: Illustration shows Elon Musk's account and Twitter logo

อีกด้านหนึ่งสำนักข่าวเอพีรายงานถึงประเด็นที่น่าสนใจจากนี้ภายใต้อิลอน มัสก์ ในฐานะ “Chief Twit”

ประการแรกหลายฝ่ายจับตาดูว่าเขาจะอนุญาตให้ผู้ที่เคยมีบัญชีทวิตเตอร์ที่มีเเนวคิดอนุรักษ์นิยมที่มีคนติดตามมากมายแต่ถูกแบน กลับมาใช้แพลตฟอร์มนี้อีกครั้งหรือไม่

ประเด็นดังกล่าวยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อกำลังเกิดการเลือกตั้งในประเทศต่าง ๆ เช่นสหรัฐฯ และบราซิล

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถูกระงับบัญชีทวิตเตอร์ กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่าเขา "ดีใจอย่างมากที่ทวิตเตอร์มาอยู่ในมือคนที่มีสติสมประกอบ" แต่ทรัมป์ก็ยังคงโฆษณาให้คนมาใช้สื่อออนไลน์ของเขา ที่ชื่อ Truth Social เช่นกัน

ทั้งนี้โดนัลด์ ทรัมป์โดนห้ามใช้ทวิตเตอร์ ในเดือนมกราคมปีที่เเล้ว สองวันหลังจากอาคารรัฐสภาสหรัฐฯถูกบุกใน "เหตุการณ์จลาจล 6 มกราคม" โดยในตอนนั้นบริษัทเห็นว่าทรัมป์ทวีตข้อความที่สร้างความคลางเเคลงใจในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ทรัมป์กล่าวซ้ำหลายครั้งว่า ตนจะไม่กลับมาใช้ทวิตเตอร์อีก แม้ว่าในอนาคตบัญชีของเขาอาจสามารถกลับมาใช้ได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เอพีรายงานว่า ยังเป็นที่กังขาว่าทรัมป์จะห้ามใจตนเองได้หรือไม่ เมื่อเข้าใกล้เวลาที่เขาต้องตัดสินใจว่าจะลงเเข่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัย

อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์บัญชีทวิตเตอร์ของทรัมป์ยังคงถูกระงับการใช้งานอยู่

Illustration shows Truth social network logo and display of former U.S. President Donald Trump

ประการที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับทิศทางรายได้ของบริษัท

อิลอน มัสก์เคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่ทวิตเตอร์พึ่งพารายได้จากโฆษณา เขาคิดว่า ทวิตเตอร์ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับแผนการสร้างรายได้ด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ค่าสมาชิก

เขาเชื่อว่า แผนสร้างรายได้ใหม่ ๆ จะลดโอกาสสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ ที่ต้องการเข้ามามีส่วนกำหนดแนวทางการบริหารธุรกิจของทวิตเตอร์

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดี เขาส่งสัญญาณไปยังผู้นำโฆษณามาลงบนทวิตเตอร์ว่า เขาต้องการให้ทวิตเตอร์ "เป็นเเพลตฟอร์มสำหรับการลงโฆษณาที่น่าเคารพมากที่สุดในโลก"

ในรายงานของเอพี นักวิเคราะห์ แดน ไอฟส์ จากบริษัทเว็ดบุช กล่าวว่า มัสก์เข้าซื้อทวิตเตอร์ ที่ราคาสูงเกินไป โดยไอฟส์เชื่อในศักยภาพของบริษัท แต่คิดว่าราคาที่เหมาะสมสำหรับการเข้าซื้อกิจการอยู่ที่ 25,000 ดอลลาร์ ซึ่งตำ่ว่า44,000 ล้านดอลลาร์ ที่มัสก์จ่ายอย่างมาก

Illustration shows rising stock graph and Twitter logo

ประการสุดท้ายเกี่ยวกับกฎระเบียบของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ

รัฐบาลสหภาพยุโรป ต้องการให้บริษัทเทคโนโลยีมีนโยบายสอดส่องเนื้อหาบนเเพลตฟอร์มของตน ไม่ให้แพลตฟอร์มตกเป็นเครื่องมือแพร่ความคิดสุดโต่ง

เทียร์รี เบรตัน เจ้าหน้าที่อาวุโสที่ดูเเลเรื่องนี้ของสหภาพยุโรป หรืออียู ในตำแหน่ง European Union Internal Market Commissioner ทวีตบอกมัสก์ในวันศุกร์ว่า การดำเนินกิจการของทวิตเตอร์ในยุโรป จะต้องเป็นไปตามกฎของอียู

มัสก์และเบรตันพบกันเมื่อเดือนพฤษภาคม และปรากฏตัวร่วมกันผ่านระบบวิดีโอออนไลน์ ในตอนนั้นมัสก์กล่าวว่า เขาตกลงที่จะทำตามกฎใหม่ของอียูที่ดูเเลโลกออนไลน์

ภายใต้กฎหมายของอียูที่ชื่อว่า Digital Service Act บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อาจถูกปรับเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ หากว่า ไม่ตรวจตราเเพลตฟอร์มของตนเพื่อป้องกันเนื้อหาที่ผิดกฎหมายเเละเป็นอันตราย เช่น ข่าวบิดเบือนและถ้อยความปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง

  • ที่มา: รอยเตอร์, เอพี