'บลูเวฟ' กระแสตื่นตัวของชาวเดโมแครตที่ต้องการเปลี่ยนทิศทางการเมืองของประเทศ

Democrats packed the Southern New Hampshire University arena on Saturday to hear from all the candidates. Seven thousand voters attended, most still indecisive on their vote. (VOA/Carolyn Presutti)

Your browser doesn’t support HTML5

Election Blue Wave


การวิเคราะห์ผลการสำรวจความเห็นของคนอเมริกันกว่า 88,000 คนที่ทำโดย Reuters/Ipsos Poll แสดงว่าขณะนี้ผู้คนในเขตเมืองใหญ่ซึ่งพรรคเดโมแครตมีฐานคะแนนอยู่ มีความสนใจและกระตือรือร้นที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้มากกว่าคนในพื้นที่นอกเขตเมืองซึ่งมักเป็นของพรรครีพับลิกัน

ซึ่งหากแนวโน้มเรื่องนี้ดำเนินไปจนถึงวันเลือกตั้งใหญ่คือ 3 พฤศจิกายนปีนี้ ก็จะนับว่าสวนทางกับลักษณะการลงคะแนนเลือกตั้งเมื่อปี 2559 ซึ่งในครั้งนั้น คนในเขตชนบทนอกเขตเมืองใหญ่ที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันพากันไปใช้สิทธิมากกว่า และส่งผลให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี

นักวิจัยเรียกแนวโน้มที่ปรากฎขณะนี้ว่า Blue Wave หรือ "คลื่นสีน้ำเงิน" ซึ่งเป็นสีที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคเดโมแครต

โดยแม้ว่าความสนับสนุนที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับจากชาวพรรครีพับลิกันในพื้นที่นอกเขตเมืองจะยังเหนียวแน่นอยู่ก็ตาม แต่ความรู้สึกต่อต้านประธานาธิบดีทรัมป์จากผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นจุดศูนย์กลางด้านประชากรและเขตเมืองใหญ่ก็ดูจะมีพลังและความเข้มข้นมากกว่า

รวมทั้งเรื่องที่อาจเป็นข่าวดีสำหรับพรรคเดโมแครต ก็คือความสนใจของคนอเมริกันในเขตเมืองใหญ่ที่ต้องการลงคะแนนให้ประธานาธิบดีทรัมป์พ้นจากตำแหน่ง ได้ขยายผลไปถึงรัฐบางรัฐทางตอนกลางของประเทศที่เรียกกันว่า Battleground States หรือมลรัฐที่ต้องมีการขับเคี่ยวเพื่อแย่งชิงชัยชนะ เช่น รัฐวิสคอนซิน และรัฐมิชิแกน ที่ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ทำให้ได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้งมากพอจนสามารถเข้าไปนั่งทำงานในทำเนียบขาวได้

คุณนิโคลาส วาเลนติโน นักรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน อธิบายว่า ชาวพรรคเดโมแครตกำลังโกรธแค้น และมีหลายคนที่เห็นว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นภัยคุกคามต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ และพร้อมจะลงคะแนนเพื่อเปลี่ยนทิศทางทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ชาวพรรคเดโมแครตก็ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่สนใจจะออกไปใช้สิทธิของตน เพราะคุณไบรยอน อัลเลน หัวหน้าฝ่ายวิจัยที่บริษัท WPA Intelligence ชี้ว่า ชาวพรรครีพับลิกันก็พร้อมสนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์อยู่ไม่น้อยเช่นกัน ตัวอย่างคือ การที่มีสมาชิกของพรรคกว่า 150,000 คนไปร่วมแสดงพลังสนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ระหว่างการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครตในรัฐนิวแฮมป์เชียร์

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณโจ เลนสกี้ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสำรวจความเห็นชื่อ Edison Research ก็เตือนว่า พรรคเดโมแครตไม่อาจทึกทักได้เสมอไปว่าถ้าตนสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนในเขตเมืองใหญ่และจากเขตพื้นที่ชานเมืองได้แล้ว ผู้สมัครของตนจะชนะเลือกตั้งเสมอไป

ทั้งนี้เพราะปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง เห็นจะเป็นเรื่องอัตราการไปลงคะแนนของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งชาวอเมริกัน

เป็นที่คาดกันว่ากระแสความสนใจในขณะนี้จะทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีช่วงปลายปีนี้มีผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งถึงราว 66% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเป็นการทำลายสถิติเดิมของการใช้สิทธิในระดับสูงสุดเมื่อปี ค.ศ. 1960 คือ 63.8%

และก็ดูเหมือนว่า ขณะนี้ชาวพรรคเดโมแครตกำลังฝากความหวังให้กับพลังคนหนุ่มสาว ว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันผลการเลือกตั้งใหญ่ปลายปีนี้ให้หลายพื้นที่กลายเป็นสีน้ำเงิน