เมื่อวันศุกร์ กองกำลังความมั่นคงเมียนมายิงกระสุนจริงและแก๊สน้ำตาไปยังผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร โดยมีรายงานว่าผู้ประท้วงแปดคนเสียชีวิต ที่เมืองอองบัน รัฐฉาน ทางตะวันออกของประเทศ
คำบอกเล่าของพยานและสื่อระบุว่า มีการสังหารและจับกุมผู้ประท้วงจำนวนมากที่เมืองอองบัน และเมืองอื่นๆ เช่น นครย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ เมืองมยินจาน เมืองกะตา และเมืองเมียวดี
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้ประท้วงเจ็ดคนในเมืองกะลอถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และอีกหนึ่งคนเสียชีวิตหลังถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่จัดงานศพที่เมืองอองบันที่ขอสงวนชื่อ นอกจากนี้ ยังมีผู้ประท้วงหนึ่งคนถูกสังหารที่เมืองลอยแก้ว
ณ ขณะที่วีโอเอรายงานข่าวชิ้นนี้ กองทัพเมียนมาไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเสียชีวิตของผู้ประท้วง
สำนักข่าว The Associated Press รายงานว่า ทางการเมียนมาจับกุมโฆษกของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรคเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายพลเรือนเมียนมาที่ถูกยึดอำนาจไป
นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวและคำบอกเล่าของพยานที่ระบุว่า ประชาชนหนีออกจากประเทศขณะที่ทางการเมียนมายกระดับสลายการชุมนุม โดยนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 230 คนและผู้ถูกจับกุมราว 2,000 คน
การยืนยันสถานการณ์ในเมียนมานั้นยากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากทางการเมียนมาจำกัดการใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้ประท้วงใช้จัดการชุมนุมและเผยแพร่ข้อมูล
เมื่อวันศุกร์ ทางกองทัพยังจับกุมผู้สื่อข่าวสองคนที่กรุงเนปิดอว์ ขณะที่พวกเขารายงานข่าวการพิจารณาคดีของสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี
สำนักข่าววีโอเอ ภาคภาษาพม่า ระบุว่า ผู้สื่อข่าวที่จับกุมคือ ออง ธูรา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซี และทัน ไทค์ ออง อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Mizzima News ทั้งนี้ มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 50 คนถูกจับกุมนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร โดยถูกปล่อยตัวแล้วกว่า 20 คน และผู้สื่อข่าวอีกอย่างน้อย 20 คน ยังคงถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย
รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตหกเขตในนครย่างกุ้ง ส่งผลให้ประชาชนราว 2 ล้านคนถูกกองทัพควบคุมโดยตรง
สหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ ประณามการทำรัฐประหารครั้งนี้ เรียกร้องให้มีการหยุดใช้ความรุนแรง และปล่อยตัวนางซูจีรวมถึงนักการเมืองคนอื่นๆ ที่ถูกจับกุม