Your browser doesn’t support HTML5
คลื่นผู้อพยพเกินกว่า 5 แสนคน มุ่งหน้าสู่พรมแดนเมียนมาเพื่อข้ามไปยังบังคลาเทศ เพื่อหวังจะได้มีชีวิตที่ดีและมีตัวตนในสังคม หลังเหตุความไม่สงบในรัฐยะไข่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา
ทว่ามีปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือ การตัดโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนชาวโรฮิงจะ ที่เกิดขึ้นมาก่อนเหตุรุนแรงในพื้นที่เสียอีก
Cresa Pugh นักศึกษาปริญญาเอกด้านสังคมศาสตร์และนโยบายสาธารณะ ของมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งศึกษาเรื่องชุมชนในรัฐยะไข่ บอกว่า ชาวโรฮิงจะประสบปัญหาด้านการศึกษามานานกว่า 5 ปี นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศของเมียนมา
เยาวชนโรฮิงจะจำนวนมากถูกปิดกั้นโอกาสในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยการจำกัดการเดินทางออกจากรัฐยะไข่ และบางคนก็ถูกส่งไปอยู่ในค่ายผู้อพยพ
Pugh บอกเล่าประสบการณ์ในการลงพื้นที่ด้วยว่า แทบจะไม่มีสถานศึกษาให้กับชาวโรฮิงจะที่นั่น ขณะที่ค่ายผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติในรัฐยะไข่ มีเพียงชั้นเรียนให้สำหรับเด็กเล็กเท่านั้น และไม่มีลู่ทางในการศึกษาต่อของพวกเขาเลย
มุมมองนี้แตกต่างจากถ้อยแถลงของนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ที่แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และย้ำว่า ทุกคนที่อาศัยในรัฐยะไข่ สามารถเข้าถึงการศึกษาและระบบสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ข้อมูลจาก Oxford Burma Alliance ระบุว่า กว่า 60% ของเด็กชาวโรฮิงจะที่มีอายุระหว่าง 5-7 ปี ไม่เคยได้รับการศึกษาหรือไปโรงเรียน จากปัญหาความยากจน ข้อจำกัดของรัฐบาลในการห้ามเดินทาง และการขาดแคลนโรงเรียนในพื้นที่
เยาวชนโรฮิงจะจำนวนมากฝันอยากจะมาเรียนต่อในสหรัฐ ทว่าพ่อแม่ของพวกเขากลับมองว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกลเกินฝัน เพราะพื้นฐานที่พ่อแม่ต่างไม่ได้รับการศึกษา ยืนยันจากข้อมูลของ Oxford Burma Alliance ที่ระบุว่า กว่า 70% ของชาวโรฮิงจะที่เป็นหัวหน้าครอบครัวไม่ได้รับการศึกษาที่เพียงพอ
สำหรับการศึกษาในระดับสูง Jessica Marks ประธานของ Refugee Center Online บอกว่า ปัจจุบันมีชาวโรฮิงจะเพียง 5% ที่ออกจากรัฐยะไข่เพื่อต่อยอดการศึกษาของตัวเองได้ และพวกเขามักถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกแบ่งแยก
Puge เพิ่มเติมด้วยว่า ตอนนี้นักเรียนนักศึกษาชาวโรฮิงจะหมดโอกาสศึกษาต่อในระดับสูง แม้ว่าชุมชนโรฮิงจะในพื้นที่จะพยายามสร้างมัสยิดหรือโรงเรียนสอนศาสนาเพื่อแก้ปัญหาการขาดการศึกษาของพลเมือง แต่ปัญหาสำคัญ คือ รัฐบาลเมียนมาไม่อนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนระดับมัธยมในค่ายผู้ลี้ภัยที่รัฐยะไข่
ตอนนี้สิ่งที่หน่วยงานระหว่างประเทศทำได้ คือ การจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มสถานศึกษาในค่ายผู้ลี้ภัย ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนชายหญิงได้มีการศึกษาเท่าเทียมกัน