คุยกับนักเรียนไทยจาก “University of Chicago”

Nanut Photo1

Your browser doesn’t support HTML5

EDU Chicago

มหาวิทยาลัย University of Chicago คือหนึ่งในเป้าหมายที่หลายคนอยากมาศึกษาต่อ ด้วยชื่อเสียง และความโดดเด่นด้านวิชาการ

ไม่น่าแปลกใจที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะรับนักศึกษาใหม่ในอัตราการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง อ้างอิงจากภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงปี พ.ศ. 2561 มีผู้ยื่นใบสมัครเพื่อเข้าศึกษาต่อจำนวน 32,000 ราย แต่สถาบันสามารถรับนักศึกษาใหม่ได้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น

ในมุมมองของคุณณณัฏฐ์ ชัยชนะวาณิชย์ หรือคุณณะ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาตรีปี 4 ด้านคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย University of Chicago เล่าให้วีโอเอไทยฟังถึงประสบการณ์การสมัครเข้าเรียนที่นี่

Nanut Photo3

“สำหรับ University of Chicago เวลาสมัครไม่ต้องเลือก department หรือแจ้งว่าจะเลือกเรียนอะไร แค่สมัครเข้ามาที่มหาวิทยาลัยโดยตรง แล้วจากนั้นค่อยเลือกว่าเราจะเรียน Major อะไรช่วงปี 2 ปี 3...สิ่งที่แตกต่างของ University of Chicago กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็คือตัว essay ที่ต้องเขียนเพื่อมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่าเป็น essay ที่ค่อนข้างยากเพราะมันแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นมาก”

ข้อมูลจากเว็บไซท์ของมหาวิทยาลัยระบุว่า คณะกรรมการจะพิจารณารับนักศึกษาใหม่จากผลการเรียน ผลการสอบด้านภาษา จดหมายรับรอง และบทความที่เขียนโดยผู้สมัคร (essay) และเมื่อถามถึงเคล็ดลับการเขียน essay เพื่อเอาชนะใจคณะกรรมการของ UChicago คุณณะบอกว่า “การบ่งบอกความเป็นตัวเอง” และใช้เวลา “เตรียมตัวล่วงหน้า” คือสิ่งที่สำคัญ

“สำหรับปีผมสามารถเลือกคำถามอะไรก็ได้หรืออยากเขียน essay อะไรก็ได้ซึ่งบ่งบอกตัวตนของตัวเองว่า เราชอบอะไร เราอยากทำอะไร เรามีมุมมองเกี่ยวกับโลกอย่างไร ซึ่งใช้เวลานานมากเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นเวลาเขียน essay น่าจะใช้เวลาประมาณสองสามอาทิตย์ แต่อันนี้ใช้เวลาหลายเดือน...เขาดูทุกอย่างโดยรวม โดยเฉพาะ essay ที่เราเขียนสำคัญมากสำหรับ UChicago มากกว่ามหาวิทยาลัยอื่น ผมคิดว่าค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นต้องใช้เวลาสักพักว่าจะเขียนอะไรที่บ่งบอกตัวเราให้มากที่สุด หรือว่าแชร์ประสบการณ์ของเราได้ดี แล้วก็ค่อยๆ เขียน ไม่ใช่ว่าจะส่งแล้วหนึ่งวันค่อยเขียน”

แม้จะเป็นนักศึกษาปริญญาตรีแต่คุณณะ ก็มีโอกาสได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษาปริญญาโทใน Booth School of Business ด้วย

Booth School of Business หรือ คณะบริหารธุรกิจจาก UChicago ได้รับการจัดอันดับจาก U.S. News & World Report's ปี ค.ศ. 2020 ให้อยู่ในอันดับ 3 ของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในลำดับเดียวกับ Harvard Business School จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และ Sloan Business School จากมหาวิทยาลัย MIT

“UChicago ดังเรื่องเศรษฐศาสตร์มายาวนานแล้ว...การได้เรียนเศรษฐศาสตร์ที่ UChicago ก็มีโอกาสได้ trade class กับอาจารย์ดังหรือมีความรู้มากๆในแต่ละหัวข้อ...การได้เข้ามาเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ของ University of Chicago สามารถ trade class กับ Booth Business School...ซึ่งก็ trade กับนักเรียนปริญญาโทซึ่งผมคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจมาก...การได้เข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเรียนที่มีประสบการณ์มากกว่าผม ทำให้ผมได้เห็นว่าในอุตสาหกรรมจริงๆ เขาคิด เขาทำกันอย่างไร”

นักศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การรับสมัครในปี พ.ศ.2562 มีนักเรียนต่างชาติในอัตราร้อยละ 16 และกิจกรรมพิเศษนอกชั้นเรียนที่ระบุในใบสมัครมากที่สุดสามอันดับแรกคือ การทำประโยชน์ต่อสาธารณะ ความสามารถด้านกีฬา และทักษะด้านดนตรี

ชีวิตของนักศึกษาไทยที่นี่ มีมากกว่าแค่ในชั้นเรียน ยกตัวอย่างเช่น คุณณะ ได้ทำกิจกรรมเป็นประธานชมรมแบดมินตัน และเข้าร่วม Model United Nations หรือกิจกรรมจำลองการประชุมสหประชาชาติ กิจกรรมต่างๆ จะให้โอกาสนักศึกษาได้พบผู้คนที่แตกต่างทั้งเชื้อชาติ ทัศนคติ และความเชื่อ พวกเขาจะได้เรียนรู้ พัฒนาความคิด และได้ทักษะการเข้าสังคมที่มากขึ้น

สำหรับจำนวนนักเรียนไทยในชั้นปริญญาตรีที่ UChicago ตามที่คุณณะทราบมีจำนวนเพียง 8-10 คน

ทางด้านคุณวริศ แจ่มวุฒิปรีชา หรือ คุณป่าน จบปริญญาโทจาก Booth School of Business ในปีพ.ศ. 2562 บอกให้วีโอเอฟังว่าการที่เจอนักเรียนไทยจำนวนไม่มาก ทำให้เขาต้องผลักดันตัวเองให้เข้าหาคนต่างชาติและเขารู้สึกว่านั่นคือโอกาสที่ดี

Warit Chamwudhiprecha Photo 1

“เช่นผมช่วงปีแรกอาจจะไม่ได้เข้าหาคนมาก แต่ช่วงปีสองก็ค่อนข้างเปิดโลกทัศน์ตัวเอง ... ไป join club ของพวกคน middle east บ้าง join club ของคน latin american บ้าง ทําให้เหมือนเราได้เปิดโลกทัศน์ตัวเอง เหมือนหาประสบการณ์ใหม่ๆ”

ตามความคิดของคุณป่านการได้สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับคนต่างชาติโดยเฉพาะด้านธุรกิจและการลงทุน ช่วยให้เขามีความคิดที่หลากหลาย และรู้จักกับคนมากยิ่งขึ้น

“เหมือนผมมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งเป็นคนบราซิล บางทีเราคุยเรื่อง emerging market (ตลาดเกิดใหม่) เราไม่ได้คุยแค่ในเอเชีย แต่เราคุยถึงบราซิล อินเดีย ก็เป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญของนักลงทุน”

Booth School of Business ถือว่าเป็นโรงเรียนด้านธุรกิจที่ก่อตั้งมายาวนานเป็นอันดับที่สองของโลก มีศิษย์เก่าทั่วโลกกว่า 54,000 คนใน 120 ประเทศ

คุณป่านมองว่า การเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง จึงอยากให้ทุกคนได้สิ่งที่ติดตัวกลับไปมากกว่าแค่ความรู้จากชั้นเรียน การรู้จักคนที่หลากหลายวัฒนธรรม หรือทำความรู้จักอาจารย์ที่อยู่ในแวดวงที่เราศึกษา เป็นสิ่งที่เขาแนะนำ

“ผมว่าในการที่เรามาเรียนสองปีหรือสี่ปีหรือกี่ปีก็ตาม ... เราก็ใช้จำนวนเงินเยอะเหมือนกัน ... จะให้คิดถึงด้าน return on investment...ไม่ใช้แค่ว่าเราเอาแค่สิ่งที่เราเรียนใน class มา แต่ให้ได้อะไรมากกว่านั้น … มันได้อะไรมากกว่าที่จะไปเรียนและกลับมาทํางานเฉยๆ”

ในรายงานพิเศษตอนหน้าสำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำในแถบมหานครชิคาโก เราจะมาทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัย Northwestern University สถานศึกษาอีกแห่งที่นักเรียนไทยให้ความสนใจ