นักวิเคราะห์ระบุการค้าโลกยังเดินหน้า แม้สหรัฐฯ สงวนท่าทีในการเจรจาเขตการค้าเสรี

FILE - Trade ministers and delegates from the remaining members of the Trans Pacific Partnership (TPP) attend the TPP ministerial meeting on the sidelines of the Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) leaders summit, Nov. 9, 2017 in Danang, Vietnam.

Your browser doesn’t support HTML5

นักวิเคราะห์ระบุการค้าโลกยังเดินหน้า แม้สหรัฐฯ จะสงวนท่าที่ในการเจรจาเขตการค้าเสรี

นักวิเคราะห์คาดว่า ไม่ว่าสหรัฐฯ จะร่วมอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรี Trans-Pacific Partnership (TPP) ของกลุ่มประเทศชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกหรือไม่ก็ตาม ความตกลงการค้าระหว่างประเทศในปีนี้จะมีมากขึ้น

เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำสหรัฐฯ Ashok Kumar Mirpuri กล่าวว่า กรอบความตกลง TPP น่าจะได้รับการลงนามรับรองโดย 11 ประเทศที่เหลืออยู่ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และ เวียดนาม ในสองเดือนจากนี้

เอกอัครราชทูต Mirpuri บอกว่า นอกจากนี้น่าจะมีข้อตกลงที่เรียกว่า RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership ด้วย

กรอบความตกลง RCEP ประกอบด้วย ประเทศสมาชิก ASEAN 10 ประเทศ พร้อมด้วย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

นักการทูตผู้นี้เเสดงทัศนะที่การประชุมด้านการค้าที่กรุงวอชิงตัน และกล่าวเสริมว่า สิงคโปร์ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีอันดับต้นๆ ของโลก

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ตนยังคงเปิดกว้างสำหรับความเป็นไปได้ที่อเมริกาอาจกลับไปร่วมการเจรจา TPP หากว่าสหรัฐฯ สามารถได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน David O’Sullivan เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำสหรัฐฯ กล่าวว่า การค้าโลกเจริญเติบโตมาถึงจุดนี้ในปัจจุบัน เพราะการเปิดกว้างของประเทศต่างๆ แต่ความจริงข้อนี้ถูกปฏิเสธทางการเมือง

Uri Dadush จากหน่วยงานวิจัยเชิงนโยบายที่กรุงบรัสเซลส์ กล่าวว่า ตนกังวลเรื่องสงครามการค้าในขณะนี้มากที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์เตือนว่า นโยบายการค้าที่ว่าสิ่งที่ดีต่อสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ดีต่อการค้าโลก อาจนำไปสู่ความยากลำบากในการทำธุรกิจของบริษัทอเมริกันในต่างประเทศ และนั่นยังอาจเปิดทางให้จีนขยายอิทธิพลทางการค้าในตลาดโลกมากขึ้นด้วย

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าว Mil Arcega)