Your browser doesn’t support HTML5
เชื้อไวรัสอีโบล่าทำให้คนในประเทศต่างๆ ทางอาฟริกาตะวันตกเสียชีวิตไปแล้วพันกว่าคนและยังทำให้ลิงกอริลล่าแห่งที่ราบต่ำในอาฟริกาตะวันตกและชิมแพนซีเสียชีวิตไปแล้วเป็นจำนวนมากจากการระบาดหลายครั้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
เมื่อแปดปีที่แล้ว กลุ่มเด็กชายกลุ่มหนึ่งจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางเหนือของประเทศกาบองเจอซากลิงชิมแพนซีตายแล้วในป่าและช่วยกันนำกลับไปยังหมู่บ้าน หลังจากนั้น ชาวบ้านช่วยกันแล่เนื้อลิงชิมแพนซีและปรุงเป็นอาหาร องค์การอนามัยโลกชี้ว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการระบาดของเชื้ออีโบล่าที่ทำให้คนเสียชีวิตถึง 21 คน
หลายปีต่อมา คุณ David Quammen นักเขียนได้เดินทางไปรายงานข่าวที่ประเทศกาบอง เขาได้พบกับชาวบ้านจากหมู่บ้านดังกล่าวที่เกิดการระบาดของโรคอีโบล่าครั้งนั้น ชาวบ้านบอกกับคุณ Quammen ว่าไม่เฉพาะชาวบ้านและครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากโรคอีโบล่าระบาด เขาเล่าว่าชาวบ้านบอกว่าตอนที่โรคอีโบล่าระบาดในหมู่บ้าน ชาวบ้านพบว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ชาวบ้านเห็นลิงกอริลล่า 13 ตัวนอนตายอยู่ในป่าที่ติดกับหมู่บ้านจากการติดเชื้อไวรัสอีโบล่า
คุณ Quammen กล่าวว่าตั้งแต่นั้นมา เชื้ออีโบล่ากลายเป็นโรคระบาดที่คร่าชีวิตของลิงกอริลล่าจำนวนมากและการระบาดของโรคนี้นอกจากจะทำให้ลิงกอริลล่าตายแล้ว ในบางครั้งยังแพร่สู่คนและทำให้คนเสียชีวิตด้วย
แต่การระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนไม่ใช่เรื่องใหม่ ในประวัติศาสตร์เคยเกิดการระบาดของกาฬโรคจากหนูสู่คนผ่านทางตัวหมัดในคริสศตวรรษที่ 14 ในยุโรปทำให้คนเสียชีวิตไปจำนวนมาก แต่คุณ Quammen ชี้ว่าเชื้อโรคติดต่อชนิดใหม่ๆ ระบาดจากสัตว์มาสู่คนอย่างรวดเร็วกว่าเดิม
เขากล่าวว่าการระบาดของโรคใหม่ๆ จากสัตว์สู่คนเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิมอย่างมากซึ่งแตกต่างจากในอดีตโดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
คุณ Quammen ชี้ว่าอาจเป็นไปได้ว่าคนเราได้ลุกล้ำเข้าไปอยู่ในที่อยู่ใหม่ๆ ซึ่งมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ก่อนแล้วมากขึ้นกว่าในอดีตโดยเฉพาะเมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นทุกวัน เราได้ลุกล้ำเข้าไปในระบบนิเวศวิทยาใหม่ๆ เราตัดต้นไม้ ทำเหมือง สร้างหมู่บ้านและถนน คนเราเป็นผู้แพร่เชื้อโรคแก่สัตว์และกลายเป็นโรคติดต่อที่รุนแรงขึ้นและติดต่อกลับมาสู่คนอีก
คุณ Peter Walsh นักนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ทำการศึกษาลิงกอริลล่าหลายกลุ่มในอุทยานอนุรักษ์ของคองโกในช่วงสิบปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงที่เชื้ออีโบล่าเกิดการระบาดหลายครั้ง เขาพบว่าลิงกอริลล่า 90-95เปอร์เซ็นต์หายไปจากป่า คุณ Walsh และทีมงานวิจัยประมาณว่าเชื้ออีโลบ่าทำให้ลิงกอริลล่าเสียชีวิต 45เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในเวลาเพียงไม่นาน
คุณ Peter Walsh นักนิเวศวิทยากล่าวว่านอกเหนือจากการถูกล่าเพื่อกินเนื้อแล้ว เชื้ออีโบล่าเป็นภัยคุกคามอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชากรลิงกอริลล่าลดลงอย่างรวดเร็ว
คุณ Peter Walsh ได้ร่วมเขียนรายงานวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าลิงกอริลล่าที่ราบต่ำในทางตะวันตกของอาฟริกาเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก
อย่างไรก็ดี นอกจากโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน แล้วยังมีประเด็นโรคติดต่อจากคนสู่สัตว์อีกด้วย คุณ Walsh กล่าวว่าการท่องเที่ยวเพื่อชมสัตว์ป่าก็เป็นปัจจัยที่ทำให้โรคติดต่อจากคนไปสู่สัตว์ป่า
คุณ Walsh นักนิเวศวิทยากล่าวว่าโรคในระบบทางเดินหายใจที่เกิดกับคนเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ลิงชิมแพนซีและลิงกอริลล่าในอุทยานโดยติดต่อผ่านนักท่องเที่ยวที่ป่วยแล้วเข้าไปท่องเที่ยวในที่อุทยานสัตว์ป่า เขาและทีมงานได้เรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีนแก่ลิงชิมแพนซีและกอริลล่าที่ต้องเจอกับนักท่องเที่ยวเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ติดเชื้อโรคหัดประเภทต่างๆ จากคน
นอกจากนี้เขาและทีมงานยังเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฏหมายเพื่อต่อต้านการล่าลิงกอริลล่าที่ราบต่ำทางตะวันตกของอาฟริกาเพราะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และเรียกร้องให้มีการพิทักษ์แหล่งที่อยู่ของลิงกอริลล่าพันธุ์นี้ด้วย