คนรุ่นใหม่กังวลหนักเกี่ยวกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง-ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

A child remains at an area affected by a drought on Earth Day in the southern outskirts of Tegucigalpa on April 22, 2016.

เมื่อเร็วๆ นี้ นักเรียนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันลงพื้นที่เขตอุทยานที่อยู่นอกกรุงวอชิงตัน เพื่อเก็บเศษขยะและกำจัดวัชพืชในป่า ด้วยความหวังที่จะปกป้องพืชพรรณท้องถิ่นและช่วยให้ต้นไม้ต่างๆเติบโตได้ดี เยาวชนเหล่านี้กล่าวว่า พวกเขารู้สึกภูมิใจที่กิจกรรมเล็กๆ เช่นนี้มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์โลกได้

Earth Day Angst - Young People, Sense of Urgency and Hopelessness

หนึ่งในนั้นคือ เกรย์สัน บูลลาร์ด นักเรียนระดับมัธยมปลาย ซึ่งบอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ตนเองอยากให้คนอื่นๆ รวมถึงคนรุ่นใหม่ๆ สามารถสัมผัสประสบการณ์ของอุทยาน Rock Creek ได้เหมือนกับตนและเพื่อนๆ

รายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ไว้ว่า โลกกำลังจะเข้าสู่สภาวะภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม หากรัฐบาลและผู้นำทั่วโลกไม่รีบลงมือจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังชี้ว่า ข่าวรายวันเกี่ยวกับอนาคตที่น่าเป็นห่วงของโลกส่งผลให้เกิดอาการ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนเรียกว่าเป็น ความวิตกกังวลด้านระบบนิเวศ (eco-anxiety) หรือ อาการกลุ้มหนักเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change distress) ที่พบกันมากขึ้นในในหมู่เยาวชน โดยเด็กหลายคนคิดว่า ตนไม่น่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ได้เลย ขณะที่ หลายคนรู้สึกว่า ตนต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว

อมิเลีย ลอเลอร์ นักเรียนชั้นมัธยมปลายที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ คือ เด็กคนหนึ่งที่รู้สึกว่า ตนต้องมาร่วมงานอาสาที่สวนแห่งนี้เป็นประจำ

Earth Day Angst - Young People, Sense of Urgency and Hopelessness

อมิเลีย บอกว่า ตัวเธอเองก็เหมือนกับเยาวชนรุ่นเดียวกันที่รู้สึกกลัว และคิดว่ามันเป็นธรรมดามากๆ ที่บางคนจะรู้สึกสิ้นหวัง และเลือกที่จะขจัดความรู้สึกที่ว่าด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมอาสาเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่อุทยานแทน “เพราะมันเป็นอะไรจับต้องได้ และเป็นวิธีหนึ่งที่จะได้ช่วยสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย”

ผลสำรวจล่าสุดชิ้นหนึ่งที่สัมภาษณ์คนจากทั่วโลกและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 25 ปี ระบุว่า ความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบทางลบต่อชีวิตประจำวันของตนอย่างชัดเจน

คาลิล เคทเทอริง หัวหน้าโครงการ The Nature Conservancy เห็นด้วยกับผลการสำรวจนี้และกล่าวว่า “ปัจจุบัน เรากำลังเห็นผลกระทบของภัยแล้ง ของปัญหาสภาพอากาศร้อนสุดโต่งในเมืองใหญ่ๆ และของภาวะการขาดแคลนอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ขณะเดียวกัน ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชน กลับมีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาข้างต้นมากขึ้นเรื่อยๆ”

เคทเทอริง กล่าวด้วยว่า กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้นมีความเชื่อมั่นว่า วิธีการแก้ปัญหานั้นมีอยู่จริง และวิธีเหล่านั้นจะมาช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศได้ พร้อมๆ กับช่วยให้ทุกคนได้ปรับตัว ซึ่งหมายความว่า ทุกคนจะมัวนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้อีกต่อไป

เรคการด์ ฟาราราห์ รองศาสตราจารย์และผู้อำนวยการสถาบัน Disaster Resilience Leadership Academy จากมหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) ในเมืองนิวออร์ลีนส์ บอกกับ วีโอเอ เช่นกันว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้ดีขึ้นได้

Earth Day Angst - Young People, Sense of Urgency and Hopelessness

รองศาสตราจารย์ ฟาราราห์ ระบุว่า คนเราสามารถทำอะไรง่ายๆ ได้หลายอย่าง เช่น การลองไม่ทานเนื้อสัตว์ในวันจันทร์ (meatless Mondays) หรือ หันมาทานอาหารที่ทำจากพืชแทน หรือ ลองเดินแทนการใช้พาหนะ รวมทั้งเริ่มการทำตามแนวคิด 3Rs (Reduce, Recycle, Reuse) หรือ 3ช ซึ่งก็คือ ใช้น้อย นำกลับมาใช้ใหม่ และ ใช้ซ้ำ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เริ่มมีการนำมาปฏิบัติอย่างแพร่หลายกันอยู่

ขณะเดียวกัน การตบเท้าออกมาเคลื่อนไหวและรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมนับเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เยาวชนปฏิบัติมากขึ้นเพื่อลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แบบที่ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ทำ และเคยกล่าวไว้ว่า “เราทุกคนต้องโฟกัสทุกๆ อณูของเราไปที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

รองศาสตราจารย์ ฟาราราห์ กล่าวเสริมว่า “การที่เยาวชนได้เห็นตัวอย่าง เช่น เกรตา ซึ่งสามารถปลุกระดมคนและเรียกความสนใจจากนักการเมืองได้นั้นถือเป็นความหวังใหม่เลยทีเดียว”

ขณะเดียวกัน ลินด์ซีย์ แคธคารท์ จากหน่วยงานอนุรักษ์ Rock Creek Conservancy กล่าวว่า การที่สมาชิกในชุมชนได้ออกมาพบปะและร่วมกันทำกิจกรรม เช่น การเก็บขยะในป่าอุทยาน ไม่เพียงแต่จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเยาวชนเองด้วย

Earth Day Angst - Young People, Sense of Urgency and Hopelessness

แคธคารท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาใหญ่ๆ หลายอย่างในสังคมเป็นสิ่งที่กลุ่มเยาวชนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ การออกมาทำงานอาสาเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่จะสร้างผลกระทบที่จับต้องได้ ได้อย่างรวดเร็ว ที่จะส่งผลบวกต่อทั้งสุขภาวะทางอารมณ์และสุขภาวะทางสิ่งแวดล้อมของเหล่านักเรียน และต่อระบบนิเวศโดยรวมด้วย