การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ปริมาณปลาตามแม่น้ำในประเทศกัมพูชาลดน้อยลงจนกระทบต่อรายได้ของผู้คนในประเทศ
เสียม ฮวด ชาวประมงผู้หนึ่งในกัมพูชาซึ่งจับปลามาตั้งแต่อายุ 15 ปีแล้ว ได้เห็นปริมาณปลาที่ลดน้อยลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในทะเลสาบโตนเลสาบอันงดงามของกัมพูชา โดยปลาเหล่านี้เป็นเพียงแหล่งรายได้เดียวของครอบครัวของเขา
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การหยุดชะงักของระบบนิเวศจากการสร้างเขื่อน การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุ่มน้ำ และการจับปลามากเกินไป ล้วนเป็นสิ่งที่คุกคามแหล่งอาหารและวิถีชีวิตของผู้คนหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
ทั้งนี้ โตนเลสาบ เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้คนอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นราว 1.3 ล้านคน
เสียม ฮวด ชายชาวกัมพูชาวัย 45 ปีซึ่งมีบุตร 5 คน กล่าวขณะล่องเรือผ่านป่าชายเลนเพื่อดึงอวนที่จับปลาได้เพียงจำนวนน้อยนิดอย่างน่าผิดหวังว่า “ธรรมชาติที่บริเวณทะเลสาบโตนเลสาบแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดปกติ บางปีอากาศก็ร้อนมากในช่วงหน้าฝน บางครั้งก็เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวในช่วงฤดูแล้ง บางครั้งก็เกิดสภาวะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรืออากาศร้อนจัดจนออกไปตกปลาไม่ได้”
เสียม ฮวด กล่าวด้วยว่า เขาต้องการให้ลูก ๆ ของเขามีชีวิตที่ดีขึ้น ได้เรียนภาษาต่างชาติ เขาไม่ต้องการให้ลูก ๆ เจริญรอยตามพ่อในการเป็นชาวประมง เพราะตอนนี้ปลามีจำนวนลดน้อยลง จึงควรจะไปอาชีพอื่น ๆ ทำจะดีกว่า
โดยทั่วไปแล้ว ระดับน้ำแม่น้ำโขงจะเพิ่มสูงในช่วงฤดูฝน และเมื่อมาบรรจบกับแม่น้ำโตนเลสาบของกัมพูชา ก็จะเกิดกระแสน้ำไหลย้อนกลับอย่างผิดปกติลงสู่ทะเลสาบโตนเลสาบและเข้าไปเติมเต็มแม่น้ำส่วนหลัง ทั้งยังเปิดทางให้ปลามาวางไข่อย่างอุดมสมบูรณ์
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสน้ำที่ไหลย้อนกลับมีความล่าช้าหรือหยุดชะงัก ดังนั้น ผู้ที่พึ่งพาทะเลสาบเพื่อหาเลี้ยงชีพจึงต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด
ซอร์ มอม แม่ค้าปลาวัย 43 ปี ซึ่งรายได้ในแต่ละวันลดลงจาก 25 ดอลลาร์ จนเหลือเพียง 5 ดอลลาร์ภายในปีเดียวกล่าวว่า “มีหลายต่อหลายวันที่เธอต้องดิ้นรนเพื่อหารายได้ให้เพียงพอสำหรับซื้อข้าวหรือหาค่าน้ำมันเพื่อกลับบ้าน”
ปัจจุบัน ทางการกัมพูชากำลังพยายามให้ความรู้แก่ชุมชนชาวประมงเกี่ยวกับแนวทางการทำฟาร์มอย่างมีความรับผิดชอบ การลดมลพิษทางน้ำ และวิธีการเปลี่ยนมาเลี้ยงปลาหรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ทั้งนี้ กัมพูชาเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ และมีความเปราะบาง ซึ่งทำให้บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วต้องหันมาร่วมมือกันให้มากขึ้นและดีขึ้นในการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่จัดขึ้นที่ดูไบเมื่อไม่นานมานี้
- ที่มา: รอยเตอร์