นักวิทยาศาสตร์เริ่มใช้ 'โดรน' เพื่อศึกษาสุขภาพของปลาวาฬ

FILE - A North Atlantic right whale feeds on the surface of Cape Cod bay off the coast of Plymouth, Mass., March 28, 2018.

นักวิทยาศาสตร์บางคนเริ่มใช้โดรน หรือที่เรียกว่ายานพาหนะทางอากาศแบบไม่มีมนุษย์ควบคุม เพื่อเก็บของเหลวบางชนิดที่ปลาวาฬขับออกมา

Vanessa Pirotta นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Macquarie ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า มีการใช้โดรนเป็นครั้งแรกในการเก็บเมือกปลาวาฬจากวาฬหลังค่อมในทะเล เธอเชื่อว่า โดรนช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับปลาวาฬทั่วโลกได้ดียิ่งขึ้น

นักวิจัยจะเก็บละอองน้ำที่สามารถมองเห็นได้ที่ถูกพ่นออกมาจากช่องลมของปลาวาฬเมื่อพวกมันขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ วิธีนี้จะสามารถช่วยให้เข้าใจรูปแบบและตัวขับเคลื่อนของโรคภัยในหมู่ปลาวาฬได้

Pirotta เป็นหนึ่งในบรรดาผู้เขียนบทความเกี่ยวกับการใช้โดรนเพื่อศึกษาปลาวาฬ ที่ปรากฏในสิ่งพิมพ์ออนไลน์ที่ใช้ชื่อว่า “Viruses”

นักวิทยาศาสตร์รายงานว่า พวกเขาได้เก็บตัวอย่างของเหลวจากวาฬหลังค่อม 19 ตัวในช่วงปี พ.ศ. 2560 ซึ่งในช่วงเวลานั้นฝูงปลาวาฬเดินทางขึ้นเหนือจากแอนตาร์กติกาไปยังทิศเหนือของออสเตรเลีย

รายงานระบุว่า ละอองน้ำที่พ่นออกมาจะถูกเก็บรวบรวมไว้ในภาชนะขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับด้านบนของโดรน ผู้ที่ทำหน้าที่บังคับโดรนจะเป็นผู้เปิดภาชนะนั้นในระยะไกล ขณะที่โดรนบินอยู่เหนือปลาวาฬ

Pirotta อธิบายว่า วิธีการใหม่นี้คุกคามปลาวาฬน้อยกว่าการใช้เรือเข้าไปใกล้ๆ เพื่อเก็บของเหลวจากพวกมัน และยังเป็นวิธีที่ดีกว่าการฆ่าหรือการจับปลาวาฬด้วย

ละอองของเหลวของปลาวาฬที่โดรนเก็บไว้นั้นประกอบไปด้วย DNA ซึ่งมีข้อมูลทางพันธุกรรม ตลอดจนโปรตีนและแบคทีเรียชนิดต่างๆ นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถเก็บแบคทีเรียที่อยู่ในปอดของวาฬเพื่อประเมินสุขภาพของปลาวาฬด้วย

และด้วยวิธีนี้ โดรนจะทำหน้าที่เป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพของปลาวาฬได้

แม้ว่าจะมีการห้ามล่าวาฬระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2529 แต่ประเทศญี่ปุ่นประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าจะเริ่มการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ในน่านน้ำของตน