Your browser doesn’t support HTML5
บริษัทที่ดูแลผลงานของนักเขียนหนังสือเด็ก Dr. Seuss จะหยุดตีพิมพ์หนังสือ 6 เล่มของเขา ตามคำแถลงของ Dr. Seuss Enterprises โดยให้เหตุผลว่าหนังสือเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงผู้คนในรูปแบบที่อาจทำให้สะเทือนใจและไม่ถูกต้อง
ส่วนหนึ่งของแผนนี้มีขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าหนังสือและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Dr. Seuss Enterprises เป็นตัวแทนและสนับสนุนทุกชุมชนและทุกครอบครัว
หนังสือเล่มหนึ่งที่ถูกยกเลิกการตีพิมพ์คือ “And to think that I saw it on Mulberry Street” ในหนังสือเล่มนี้มีภาพวาดคนเอเชียสวมหมวกทรงแหลมถือตะเกียบและรับประทานอาหารจากชาม ส่วนในหนังสือเรื่อง “If I Ran the Zoo” มีภาพวาดชายชาวแอฟริกันเท้าเปล่าสองคนสวมกระโปรงที่ทำด้วยหญ้าและผูกผมไว้เหนือศีรษะ
นอกจากนี้หนังสือเรื่องอื่นๆ ที่จะหยุดการตีพิมพ์อีกคือ McElligot’s Pool, On Beyond Zebra!, Scrambled Eggs Super! และ The Cat’s Quizzer ซึ่งทางบริษัทกล่าวว่าการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นเมื่อปีที่แล้วหลังจากการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ
Dr. Seuss เป็นนามปากกาของ Theodore Seuss Geisel นักเขียนหนังสือเด็กที่เสียชีวิตเมื่อปีค.ศ. 1991 อย่างไรก็ตาม Dr. Seuss ยังคงมีชื่อเสียงโด่งดัง บริษัทที่ดูแลการขายหนังสือของเขามีรายได้ประมาณ 33 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 9.5 ล้านดอลลาร์เมื่อห้าปีที่แล้ว ทั้งนี้ในปี 2020 นิตยสาร Forbes ระบุว่า Dr. Seuss เป็นบุคคลผู้ล่วงลับที่มีรายได้สูงสุดเป็นอันดับสองรองจาก Michael Jackson ราชาเพลงป็อบผู้ล่วงลับไปแล้ว
นอกจากนี้แล้ว Forbes ยังรายงานด้วยว่าหนึ่งวันหลังการประกาศยกเลิกการพิมพ์หนังสือหกเล่มดังกล่าว 9 ใน 10 อันดับแรกของหนังสือขายดีที่สุดของ Amazon เป็นของ Dr. Seuss โดยที่ไม่มีชื่อของหนังสือทั้งหกเล่มที่ถูกยกเลิกการตีพิมพ์ไป
สมาคมการศึกษาแห่งชาติสหรัฐฯ เริ่มกิจกรรมวัน Read Across America Day ขึ้นเมื่อปี 1998 ในวันเกิดของ Geisel อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางสมาคมได้ถอยห่างออกจากหนังสือของ Dr. Seuss และสนับสนุนหนังสือเด็กอื่นๆ แทน
การเคลื่อนไหวในการหยุดเผยแพร่หนังสือนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วบนโลกโซเชียล บางคนเรียกการเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการ “การคว่ำบาตรวัฒนธรรม” ในขณะที่หลายๆ คนก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้
Rebekah Fitzsimmons ผู้ช่วยด้านการสอนที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ได้ทวีตข้อความที่มีใจความว่า “หนังสือที่ให้เด็กๆ อ่านนั้นมีความสำคัญ เพราะหนังสือจะเป็นตัวกำหนดมุมมองของเด็กๆ ที่มีต่อโลก และสอนให้มีความสัมพันธ์กับผู้คน สถานที่ และความคิดรอบๆ ตัว” ส่วนผู้ใหญ่ ก็ต้องใส่ใจต่อโลกทัศน์ที่สร้างขึ้นสำหรับลูกๆ ตลอดจนตรวจสอบหนังสือเล่มโปรดของเราอีกครั้งอย่างรอบคอบด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีหนังสือเด็กยอดนิยมเล่มอื่นๆ ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่าสร้างความขุ่นเคืองให้กับบางคน อย่างเช่นหนังสือเรื่อง “Should We Burn Babar?” ในปี 2007 ซึ่งมีนักเขียนและนักการศึกษา อย่าง Herbert R. Kohl เขียนว่าหนังสือ "Babar the Elephant" เป็นการเฉลิมฉลองการล่าอาณานิคม
นอกจากนี้ยังมีหนังสือเรื่อง “Curious George” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะเรื่องราวเริ่มต้นด้วยการที่ชายผิวขาวนำลิง George ออกจากแอฟริกา
และนักเขียน Laura Ingalls Wilder ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการเขียนเกี่ยวกับชนพื้นเมืองอเมริกันในหนังสือเรื่อง “Little House on the Prairie” ของเธอ ทั้งนี้หนังสือหลายเล่มของเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งจนในปี 2018 สมาคม American Library Association ต้องถอดชื่อของเธอออกจากรางวัลที่แจกในแต่ละปี แต่ทางสมาคมยังคงมอบรางวัล Geisel Award ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับหนังสือเด็กหัดอ่านที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ