ผู้บุกเบิกวงการแบตเตอรี่ของโลก เผยการคิดค้นสำคัญครั้งใหม่ ในวัย 96 ปี

Dr. John Goodenough sits inside a laboratory at the University of Texas at Austin's Cockrell School of Engineering. (UT at Austin)

Your browser doesn’t support HTML5

ผู้บุกเบิกวงการแบตเตอรี่ของโลก เผยการคิดค้นสำคัญครั้งใหม่ ในวัย 96 ปี

ช่วงคริสทศวรรษที่ 1980 John B. Goodenough เคยพลิกโฉมการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าของผู้คนทั่วโลก ด้วยการคิดค้นพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ให้เป็นขุมพลังที่พกพาได้ง่ายสำหรับสมาร์ทโฟน ไอแพด และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จนได้รับการยกย่องกล่าวขานไปทั่วโลก

40 ปีต่อมา Goodenough ร่วมกับคณะ ได้ตีพิมพ์ผลงานการวิจัยเมื่อเดือนเมษายน ในการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ดึงโคบอลต์ออกจากสารประกอบในแบตเตอรี่ เพื่อลดต้นทุน ลดความเสี่ยงต่อการระเบิดจากของเหลวภายใน ชาร์จไฟได้เร็วขึ้น กักเก็บพลังงานได้มากขึ้นถึงเท่าตัว และทนทานขึ้นกว่าเดิม 23 เท่า ซึ่งเป็นใบเบิกทางของอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง Tesla และ Dyson กำลังเร่งพัฒนาอยู่เช่นกัน

ไม่เพียงแค่การคิดค้นที่เปลี่ยนโลกชิ้นใหม่ของอาจารย์ Goodenough ที่สร้างความประหลาดใจ แต่คือมุมมองความคิดของชายวัย 96 ปี ที่ไม่หยุดคิดค้นและพัฒนาเพื่อคนข้างหลัง โดย Wall Street Journal เปิดเผยถึงเส้นทางเกือบ 1 ศตวรรษของคุณ Goodenough ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องในวงการวิทยาศาสตร์ เขามีชีวิตเริ่มต้นอันยากลำบาก

เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก เขาเผชิญกับโรค Dyslexia ที่ทำให้เกิดปัญหาในการอ่านและเขียน ขณะที่สุขภาพการเงินของผู้เป็นพ่อมักประสบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่เสมอ ทำให้เขามีนิสัยประหยัดมัถยัสถ์ สวมใส่เสื้อผ้ามือสอง และเป็นนักเรียนทุนของมหาวิทยาลัย

แต่ภายใต้ความประหยัดมัธยัสถ์ คุณ Goodenough ก็เลือกพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน เพราะเขาได้เปิดเผยกับ Wall Street Journal ว่าหลังจากได้เป็นผู้จดลิขสิทธิ์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เขาไม่เคยรับเงินค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวเลยสักแดงเดียว

ที่สำคัญ ช่วงการทำวิจัยชิ้นล่าสุดของเขาที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ดร. Goodenough ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายสมถะ ไม่มีแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่เขาคิดค้น จดบันทึกข้อมูลด้วยปากกาและกระดาษแบบวิถีดั้งเดิม และยังขับรถฮอนด้าอายุกว่า 10 ปีที่เขาบอกว่ายังใช้การได้ดี เช่นเดียวกับแรงขับเคลื่อนทางความคิดของเขา

คุณ Arumugam Manthiram อาจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ จาก University of Texas at Austin เพื่อนร่วมงานของเขามากว่า 33 ปี บอกว่า แรงขับเคลื่อนสำคัญของคุณ Goodenough คือ ความอยากรู้อยากเห็นในเชิงวิทยาศาสตร์ และการใช้องค์ความรู้เพื่อสังคม

ขณะที่ คุณ Nick Grundish นักศึกษาปริญญาเอกที่ได้คุณ Goodenough เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา บอกกับ Wall Street Journal อย่างติดตลกว่า อาจารย์เคยบอกเสมอว่าเขาจะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกคนสุดท้ายของ ดร. Goodenough แต่ทุกๆ 2-3 ปีจากนั้น อาจารย์ก็จะรับเป็นที่ปรึกษานักศึกษาปริญญาเอกคนใหม่ไปเรื่อยๆ

คุณ Goodenough เปิดเผยกับ Wall Street Journal ว่า เขาตั้งมั่นที่จะเดินหน้าศึกษาค้นคว้าต่อไป จนกว่าเขาจะขับรถไม่ไหว หรือถูกบังคับให้ไปอยู่บ้านพักคนชรา เพราะภารกิจของเขา คือ การเฝ้ารอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งแบตเตอรี่ก่อนที่เขาจะหมดลมหายใจ