อธิบาย: เมื่อศาลสูงรัฐโคโลราโด ตัดชื่อ ‘ทรัมป์’ ออกจากบัตรเลือกตั้งปธน. ขั้นต้น

โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีและผู้เตรียมลงชิงตำแหน่ง ปธน. สมัยหน้า กล่าวระหว่างการหาเสียงที่เมืองวอเตอร์ลู รัฐไอโอวา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2023 (Photo by KAMIL KRZACZYNSKI / AFP)

เมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ศาลสูงรัฐโคโลราโดตัดสิทธิ์อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และตัดชื่อของเขาออกจากบัตรเลือกตั้งประธานาธิบดีขั้นต้นในรัฐโคโลราโด ด้วยข้อหาสนับสนุนการก่อจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ซึ่งทางศาลเห็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามรายงานของเอพี

คณะตุลาการที่ถูกแต่งตั้งโดยผู้ว่าการรัฐจากพรรคเดโมแครต ลงมติ 4-3 ในคำตัดสินดังกล่าว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการใช้มาตราที่ 3 ของบทแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 14 เพื่อตัดสิทธิ์ผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ในวันพุธ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวกับผู้สื่อข่าวกรณีคำตัดสินนี้ว่า แน่นอนหลักฐานแสดงให้เห็นว่าทรัมป์ทำผิดด้วยการสนับสนุนการก่อจลาจลจริง และว่า "การที่บทแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 14 จะถูกนำมาใช้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลสูง"

มาตราที่ 3 ของบทแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14

กฎหมายยุคหลังสงครามกลางเมืองเมื่อเกือบ 160 ปีที่แล้วนี้ ถูกออกแบบเพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกของอดีตสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America) ซึ่งเป็นฝั่งตรงข้ามของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งของรัฐบาลได้ หลังสงครามกลางเมืองยุติลง

กฎหมายดังกล่าวระบุว่า ผู้ใดก็ตามที่สาบานตนว่าจะสนับสนุนรัฐธรรมนูญ แต่กลับ “เข้าร่วมก่อการจลาจลหรือก่อกบฏ” ในเวลาต่อมา จะไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งในรัฐบาลได้อีก โดยมีการบังคับใช้กฎหมายนี้เพียงไม่กี่ครั้งในช่วงยุคหลังสงครามกลางเมือง

SEE ALSO: คดีใหญ่ที่ทรัมป์เผชิญมีอะไรบ้าง?

คำตัดสินของศาลสูงรัฐโคโลราโดในครั้งนี้ยังเป็นการกลับคำตัดสินของผู้พิพากษาศาลแขวงในหลายรัฐที่เห็นว่า ทรัมป์ยั่วยุให้เกิดการจลาจลจากบทบาทของเขาในเหตุการณ์ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ จริง แต่ทรัมป์ไม่อาจถูกตัดชื่อออกจากบัตรเลือกตั้งได้เนื่องจากยังไม่แน่ชัดว่ากฎหมายดังกล่าวมีเจตนาครอบคลุมสถานะการเป็นประธานาธิบดีหรือไม่

ทั้งนี้ ศาลสูงโคโลราโดจะยังไม่ดำเนินการทางกฎหมายต่อไปจนกว่าศาลสูงของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน จะมีคำพิพากษาในวันที่ 4 ม.ค. ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐโคโลราโดเผยว่า จะต้องหาข้อยุติในประเด็นนี้ให้ได้ภายในวันที่ 5 ม.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่รัฐโคโลราโดจะจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งประธานาธิบดีขั้นต้น

ศาลสูงรัฐโคโลราโดระบุในคำพิพากษาด้วยว่า ทางศาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วนต่อการทำหน้าที่ใช้กฎหมายโดยปราศจากอคติ และไม่หวั่นไหวไปกับท่าทีของสาธารณชนต่อผลจากคำตัดสิน

Colorado Supreme Court

บทบาทศาลสูงอเมริกัน

ที่ผ่านมา ศาลสูงสหรัฐฯ ยังไม่เคยมีคำตัดสินในคดีที่เกี่ยวกับมาตราที่ 3 โดยตุลาการศาลสูงสามารถพิจารณาคดีนี้ได้ทันทีที่คณะทนายความของทรัมป์ยื่นอุทธรณ์มา ซึ่งคาดว่าจะยังไม่ใช่ในสัปดาห์นี้

ศาลสูงสามารถตัดสินออกมาได้หลายแนวทาง ตั้งแต่ยืนตามคำตัดสินเดิมหรือกลับคำตัดสิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำตัดสินนี้จะมีผลเฉพาะในรัฐโคโลราโดเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าจนถึงขณะนี้ ชื่อของทรัมป์จะยังคงปรากฏอยู่บนบัตรเลือกตั้งขั้นต้นของรัฐอื่น ๆ ดังเดิม

ถึงกระนั้น หากศาลสูงของสหรัฐฯ ยืนยันตามคำตัดสินของศาลสูงรัฐโคโลราโด ก็อาจมีผลให้รัฐอื่น ๆ อาจเริ่มดำเนินการยื่นฟ้องให้นำชื่อของทรัมป์ออกจากบัตรเลือกตั้งขั้นต้นได้เช่นกัน

Election 2024 Trump

ท่าทีทรัมป์

ก่อนหน้านี้ ทีมทนายของทรัมป์เคยยืนยันว่า จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงสหรัฐฯ ทันทีหากมีคำตัดสินตัดสิทธิ์การลงชิงตำแหน่ง ปธน. ของทรัมป์ ซึ่งศาลสูงสหรัฐฯ มีอำนาจชี้ขาดเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

อะลินา ฮับบา โฆษกด้านกฎหมายของทรัมป์ ระบุในแถลงการณ์เมื่อคืนวันอังคารว่า คำตัดสินของศาลสูงรัฐโคโลราโดเป็นการ “โจมตีหัวใจประชาธิปไตยของประเทศ” และ “พวกเราเชื่อว่าศาลสูง (สหรัฐฯ) จะกลับคำตัดสินที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้”

ทางด้านทรัมป์ไม่ได้กล่าวถึงคำตัดสินนี้ระหว่างการหาเสียงที่เมืองวอเตอร์ลู รัฐไอโอวา แต่ทีมงานหาเสียงของเขาได้ส่งอีเมลระดมทุนพร้อมระบุถึง “คำตัดสินเผด็จการ”

ขณะที่รอนนา แม็คเดเนียล ประธานคณะกรรมการแห่งชาติของพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า คำตัดสินนี้เป็นการ “แทรกแซงการเลือกตั้ง” และทีมกฎหมายของทางคณะกรรมการจะช่วยทรัมป์สู้คดีในครั้งนี้

เมื่อย้อนไปเมื่อการเลือกตั้ง ปธน. เมื่อปี 2020 ทรัมป์แพ้เลือกตั้งในรัฐโคโลราโดไปด้วยส่วนต่างคะแนน 13% และเขาไม่ได้ต้องการเสียงจากรัฐนี้เพื่อชนะการเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ทรัมป์อาจเผชิญความเสี่ยงที่ศาลและหน่วยงานจัดการเลือกตั้งในรัฐอื่น ๆ จะมีความเห็นไปในทางเดียวกับรัฐโคโลราโด และตัดสิทธิ์ของทรัมป์ในรัฐฐานเสียงสำคัญได้

  • ที่มา: เอพี