ผู้เชี่ยวชาญเตือนไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากไปในช่วงโควิด-19 ระบาดใหญ่

Bottles of alcoholic drinks are displayed on a counter whilst a waiter pours an alcoholic drink into a glass at a bar in Dubai March 9, 2011.

Your browser doesn’t support HTML5

Alcohol Assumption During Covid-19


ในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในระยะเริ่มต้น ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ถ้าหากดื่มแอลกอฮอล์เกินปกติในช่วงนี้อาจทำให้เกิดผลร้ายตามมาได้

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงแรกของการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส ผู้คนจำนวนมากเริ่มปฏิบัติตามนโยบายกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ในบางพื้นที่ร้านอาหารและบาร์ต้องปิดให้บริการหรือรับลูกค้าจำนวนจำกัดเพื่อช่วยชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 และนั่นทำให้ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Nielsen ระบุว่า ในสหรัฐฯ ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์เพิ่มขึ้น 234 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว

Victor Karpyak แพทย์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับผู้ติดยาเสพติดที่ Mayo Clinic ในรัฐมินนิโซตา ระบุบนเว็บไซต์ของ Mayo Clinic ว่า ผู้คนดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดความเครียดและเพื่อให้ลืมปัญหาต่างๆ แต่ถ้าหากดื่มมากเกินไปในช่วงเวลาที่ยากลำบาก อาจทำให้เกิดผลร้ายตามมาได้

คุณหมอ Karpyak ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ การดื่มแอลกอฮอล์แต่น้อยอาจทำให้กลายเป็นปัญหาได้ง่ายๆ กล่าวคือ หากดื่มสามหรือสี่แก้วในวันนี้ และอีกสามหรือสี่แก้วในวันพรุ่งนี้ ก็จะกลายเป็นการดื่มที่มากกว่าปริมาณที่พอเหมาะพอควร

สถาบันเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ในทางที่ผิดและโรคพิษสุราเรื้อรังแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NIAAA ให้คำจำกัดความของการดื่มในระดับปานกลางเอาไว้ว่า หมายถึงผู้หญิงดื่มวันละหนึ่งแก้ว และผู้ชายดื่มวันละสองแก้ว โดยเครื่องดื่มนั้นควรมีปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ในเครื่องดื่มไม่เกิน 6/10 ออนซ์ หรือ 18 มิลลิลิตร

อย่างไรก็ตาม สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NIH แนะนำว่า ผู้ที่ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์เลย ก็ไม่ควรเริ่มดื่มไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม

คุณหมอ Karpyak กล่าวอีกว่า การดื่มเครื่องดื่มมึนเมาในปริมาณเพิ่มขึ้นอาจเป็นสัญญาณของการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่ผิดและอาจพัฒนาไปสู่การติดสุราได้ นอกจากนี้การติดสุรายังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ต่างๆ และส่งผลต่อร่างกายอีกด้วย เพราะอวัยวะทุกส่วนในร่างกายล้วนได้รับผลกระทบจากพิษสุราเรื้อรัง

โรคตับที่เกิดจากการดื่มสุรานั้นอาจเป็นปัญหาที่ได้รับรายงานมากที่สุด แต่สถาบัน NIAAA เตือนว่ายังมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ อีกมากมาย การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการดื่มเพียงวันละแก้ว สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในหมู่สุภาพสตรี และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็งบางรูปแบบอีกด้วย

คุณหมอ Karpyak กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลเสียมากมายในระยะยาว เช่น ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อสมอง เป็นต้น โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสารเสพติดที่สถาบัน NIH แนะนำว่า บุคคลดังต่อไปนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด:

• ผู้ที่ใช้ยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

• ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย ซึ่งอาจจะแย่ลงหากดื่มแอลกอฮอล์

• ผู้ที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ดื่มแอลกอฮอล์ได้

• ผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะหรือใช้งานเครื่องจักร

• ผู้ที่ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้ทักษะและการประสานงาน

• ผู้ที่กำลังฟื้นตัวจากการติดสุราเรื้อรังหรือไม่สามารถควบคุมปริมาณที่ดื่มได้

• ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือพยายามที่จะตั้งครรภ์

ทั้งนี้ มีผู้คนมากมายที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ในตอนท้ายของวันที่แสนจะยาวนาน และเคร่งเครียด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแนะนำให้หาวิธีอื่นๆ ในการลดความเครียด เช่น โทรศัพท์ไปคุยกับเพื่อน ออกไปเดินเล่น หรือทำในสิ่งที่ชอบ เช่น ดูหนัง อ่านหนังสือ หรือฟังเพลง เป็นต้น