Your browser doesn’t support HTML5
โรคโควิด 19 นอกจากจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและต่อสุขภาพแล้ว ดูเหมือนว่าผลกระทบล่าสุดจากเรื่องนี้คือการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวหรือการหย่าร้างของคนอเมริกันจากเดิมซึ่งอยู่ในระดับสูงที่อัตราราว 50 % อยู่แล้ว
บรรดานักกฏหมายและที่ปรึกษาปัญหาครอบครัวต่างกล่าวว่า ความเครียดที่เกิดจากการกักตัวเอง ความกังวลในเรื่องการเงิน ความเบื่อหน่าย การที่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ความขัดแย้งเรื่องลูกๆ ความขัดแย้งเรื่องงานบ้านต่างๆ ตลอดจนการที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ทำให้หลายๆ คู่ทบทวนความรู้สึกที่ตนเองมีต่อคู่ครอง
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การที่จะหย่าร้างในขณะที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านด้วยกันนั้นอาจเป็นเรื่องยาก เพราะการแยกกันอยู่ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ และการแยกห้องนอนแต่ยังอยู่ในบ้านหลังเดียวกันก็ไม่ถือว่าเป็นการแยกกันอยู่ตามข้อกำหนดในบางรัฐก่อนการหย่าด้วย
นอกจากนี้คู่รักที่จืดจางอาจไม่สามารถแยกตัวออกจากบ้านเพื่อหาอิสรภาพหรือที่อยู่ใหม่ได้ตามที่ตั้งใจ จากความไม่สะดวกที่จะออกจากบ้าน หรือจากคำสั่งของทางการที่จำกัดการออกนอกบ้าน นอกจากนั้นการซื้อขายบ้านในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการตกลงเลี้ยงดูลูก และการแบ่งทรัพย์สินขณะที่คู่สมรสบางคู่อาจกำลังตกงานอยู่ด้วย
Stacy Lee ผู้อำนวยการสถาบัน Couples Institute Counseling Services ในเมืองเมนโลพาร์ค รัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า แม้แต่การหย่าร้างที่ว่าง่ายๆ ก็ยังต้องอาศัยความอดทนทางด้านอารมณ์อย่างมาก เพราะสมองของมนุษย์เราสามารถรับมือกับความเครียดและความไม่แน่นอนได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อบรรดาคู่สมรสต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายมากขึ้น ทรัพยากรต่างๆ ก็ลดน้อยลงทั้งหมดนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการเพราะยังเร็วเกินไป แต่บรรดานักกฎหมายและที่ปรึกษาบางคนรายงานว่าพวกเขาได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่บอกว่ากำลังพิจารณาที่จะแยกกันอยู่กับคู่สมรสทันทีหลังจากการกักตัวหรือล็อคดาวน์สิ้นสุดลง หรืออาจจะเร็วกว่านั้นด้วยซ้ำไป
Lee Wilson ที่ปรึกษาด้านชีวิตคู่ที่เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี่ได้สำรวจคู่สมรสจำนวน 734 คู่ทางอีเมลตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนและพบว่า 31% ของคู่สมรสบอกว่าการกักตัวอยู่ที่บ้านส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของตน และมีเพียงไม่ถึง 23% ที่บอกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย
เขากล่าวอีกว่า ความเบื่อหน่ายทำให้ความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาแย่ลง การที่ทำอะไรเหมือนเดิมทุกๆ วันอาจทำให้เกิดความเครียด คู่สมรสที่ความสัมพันธ์ย่ำแย่อยู่แล้วก็อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงไปยิ่งกว่าเดิม และการที่ต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้านด้วยกันก็อาจจะผลักดันให้ไปสู่การหย่าร้างเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตามการติดตามสถิติการหย่าร้างในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก นอกจากนั้นศาลครอบครัวในบางเขตการปกครองยังเห็นว่าคดีหย่าร้างไม่ใช่เรื่องสำคัญเร่งด่วนและยังไม่รับคำร้องในขณะนี้ด้วย
Nicole Sodoma ผู้ก่อตั้งสำนักกฏหมาย Sodoma Law กล่าวว่าไม่มีใครสามารถทราบได้เลยว่าการหย่าร้างนั้นๆ เป็นผลมาจากการเกิดโรคระบาดใหญ่หรือไม่เพราะคู่สมรสไม่จำเป็นต้องเปิดเผยเรื่องนี้ แต่ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความขัดแย้งและความตึงเครียดเพิ่มขึ้นระหว่างคู่สมรสอย่างแน่นอน
แต่ในทางกลับกัน การเกิดโรคระบาดนี้จะทำให้คู่สมรสบางคู่ตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันต่อไปหรือไม่? Peter Pearson ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน The Couples Institute Counseling Services กล่าวว่าเมื่อคู่สมรสบางคู่ต้องเผชิญกับวิกฤต ทำให้พวกเขาโยนความแตกต่างของตนทิ้งไป และหาทางรับมือกับวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยจะฟัง ถาม และพยายามเข้าใจในกันและกัน แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ถ้าทำได้ คนเหล่านั้นก็จะสามาถผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกันและมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้เพื่อการใช้ชีวิตแบบ new normal ร่วมกันนั่นเอง