นักวิทยาศาสตร์ประกาศในวันพฤหัสบดีว่า สามารถระบุลักษณะของไดโนเสาร์กินพืชชนิดใหม่ที่คล้ายคลึงกับ ‘ไทรเซราทอปส์’ แต่มีลักษณะพิเศษก็คือเขาบนใบหน้าและแผงคอ ที่มีลักษณะคล้ายกับอาวุธของเทพเจ้าตามปกรณัมนอร์ส ‘โลกิ’
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวนี้และระบุว่า ไดโนเสาร์กินพืชตัวนี้มีชื่อว่า โลกิเซราทอปส์ แรนจิฟอร์มิส (Lokiceratops rangiformis) มีลำตัวยาว 6.7 เมตร หนักราว 5 ตันครึ่ง และมีปากจงอยเพื่อหาอาหารประเภทพืชตามพื้นดิน
โลกิเซราทอปส์มีเขาโค้งยาวมากกว่า 40 ซม. อยู่เหนือตา และมีเขาเล็ก ๆ อีกตามแก้มและตา โดยเฉพาะที่แผงคอที่มีเขาแหลมอย่างน้อย 20 อัน และมีฝั่งละข้างที่มีความยาวอย่างน้อย 61 ซม. ซึ่งถือเป็นไดโนเสาร์ที่มีเขาบริเวณแผงคอที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสังเกตมา
เขาเหล่านี้ที่มีลักษณะคล้ายกับมีดของโลกิ เทพเจ้าที่มีอุปนิสัยซุกซนและชอบกลั่นแกล้งในตำนานเทพปกรณัมนอร์ส จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่นำมาสู่การตั้งชื่อ โลกิเซราทอปส์ ซึ่งสามารถแปลได้ว่า “ใบหน้ามีเขาของโลกิ” หรือ “ทรงคล้ายคาริบู” ที่สื่อถึงทรงเขาตรงแผงคอที่คล้ายคลึงกับกวางคาริบู
โลกิเซราทอปส์เป็นหนึ่งในสปีชีส์ของไดโนเสาร์มีเขา ที่เรียกโดยรวมว่า เซราทอปเซียน ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในอเมริกาเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาในยุคครีเทเซียส (145.5 ล้านถึง 66 ล้านปีก่อน) ที่ ณ เวลานั้นทวีปยังคงถูกแบ่งครึ่งด้วยผืนทะเลปิด
ไดโนเสาร์เขางามตัวนี้ถูกพบที่จุดขุดค้นในรัฐมอนแทนา สหรัฐฯ ห่างจากชายแดนแคนาดาราว 3.6 กม. โดยคาดว่าโลกิเซราทอปส์ใช้ชีวิตอยู่ตามป่าและทะเลสาบตามพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นภูมิภาคตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ
โจ เซอร์ติช นักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนียน และมหาวิทยาลัยโคโลราโด ผู้ร่วมเขียนงานค้นคว้าไดโลกิเซราทอปส์ที่เผยแพร่ในวารสาร PeerJ วิเคราะห์ว่า เขาของมันน่าจะถูกใช้เพื่อข่มขู่ศัตรูและดึงดูดเพศตรงข้ามเพื่อผสมพันธุ์ หรือเอาไว้จำแนกพวกเดียวกันออกจากสัตว์สปีชีส์อื่น
มาร์ค โลเวน จากมหาวิทยาลัยยูทาห์ และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งยูทาห์ อีกหนึ่งเจ้าของงานค้นคว้าข้างต้น ระบุว่า การที่โลกิเซราทอปส์ไม่มีเขาบริเวณจมูกน่าจะบ่งชี้ว่า ไดโนเสาร์ตัวนี้ไม่ได้ใช้เขาเพื่อการป้องกันตนเอง
โลเวนกล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าตกใจในการค้นพบนี้ ก็คือ โลกิเซราทอปส์ เป็นหนึ่งในห้าสปีชีส์ของไดโนเสาร์มีเขาที่ถูกค้นพบในพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความรวดเร็วของวิวัฒนาการของสปีชีส์นี้ในลักษณะภูมิประเทศเดียวกัน เทียบได้กับ “การค้นพบช้างห้าสปีชีส์อยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนาเดียวกันในเคนยา”
เซอร์ติชกล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เซราทอปเซียนห้าสปีชีส์ถูกพบในระบบนิเวศเดียวกัน เป็นเวลามากกว่าหนึ่งศตวรรษที่เป็นที่เชื่อกันว่าจะมีไม่เกินสอง (สปีชีส์) ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ในระบบนิเวศเดียวกัน แต่หลักฐานที่โผล่ขึ้นมาในมอนแทนา และที่อื่นในลารามิเดียตอนใต้ได้เปิดเผยความอุดมสมบูรณ์ที่คาดไม่ถึง”
- ที่มา: รอยเตอร์