Your browser doesn’t support HTML5
ไดโนเสาร์ครองโลกนานเกือบ 160 ล้านปี แต่เมื่อ 66 ล้านปีที่แล้วในช่วงตอนปลายของยุคครีเทเชียส ไดโนเสาร์ได้สาบสูญไปจากโลก การสาบสูญของไดโนเสาร์เกิดขึ้นภายหลังอุบัติการณ์ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงสองเหตุการณ์
อย่างแรกคือการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟ Deccan Traps ซึ่งเป็นเทือกเขาที่กลายเป็นอินเดียในปัจจุบัน ภูเขาไฟระเบิดครั้งนั้นปล่อยเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สซัลเฟอร์ออกมาปริมาณมหาศาล ในระดับที่เป็นอันตรายสู่ชั้นบรรยากาศโลก
และอีก 150,000 ปีให้หลัง ลูกอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่มีความกว้างถึง 12 กิโลเมตรพุ่งเข้าชนโลกที่ชายฝั่งของประเทศเม็กซิโก ทำให้เกิดเมฆฝุ่นและหินขนาดใหญ่ที่บดบังเเสงอาทิตย์ไม่ให้ส่องลงมาถึงโลก
บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างถกเถียงกันมานานหลายสิบปีแล้วว่า เหตุการณ์ใดในสองเหตุการณ์ดังกล่าวที่เป็นมหันตภัยแก่ไดโนเสาร์มากกว่ากัน แต่หากไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายืนยัน การถกเถียงกันนี้ยังจะเป็นเพียงแค่แนวคิดทางทฤษฎีเท่านั้น
มาถึงขณะนี้ มีการค้นพบซากฟอสซิลชิ้นเล็กๆ ของหอยนางรมบนเกาะในมหาสมุทรแอนตาร์ติกาที่ใกล้กับติ่งใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งอาจจะช่วยให้คำตอบแก่ทฤษฎีที่ถกเถียงกันอยู่นี้
บรรดานักโบราณคดีได้ค้นพบหลักฐานมากมาย จากทั้งเหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่กับลูกอุกกาบาตพุ่งชนโลก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสองเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดห่างกันเพียงเเค่ 150,000 ปี ทำให้ชั้นหินสั่งสมของซากพืชซากสัตว์จากทั้งสองเหตุการณ์มีความใกล้กันมาก ทำให้ยากแก่การแยกว่าอะไรเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์
แต่คุณ Sierra Petersen ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะอากาศโลกในยุคโบราณแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ที่เกาะ Seymour Island พบว่าชั้นหินสั่งสมซากพืชซากสัตว์จากเหตุการณ์สองครั้งอยู่แยกกันเป็นระยะทาง 40 เมตร ช่วยให้ทีมงานสามารถแยกแยะผลกระทบต่อสภาวะทางอากาศของสองเหตุการณ์ออกจากกันได้
คุณ Andrea Dutton นักธรณีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Florida กล่าวว่า จากการค้นพบนี้ช่วยให้สามารถยืนยันได้ว่า ทฤษฎีเกี่ยวกับผลกระทบของภูเขาไฟระเบิดกับลูกอุกกาบาตพุ่งชนโลกเป็นทฤษฎีที่ถูกต้องทั้งสองอย่าง
ในตอนที่คุณ Dutton เป็นนักศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เธอได้พยายามใช้ฟอสซิลเปลือกหอยจากเกาะ Seymour Island เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลกในยุคโบราณ เทคนิคที่เธอใช้ช่วยวัดระดับอ็อกซิเจนในโมเลกุลของฟอสซิล แต่ตัวเลขที่เธอได้จากการศึกษา ต้องใช้ระดับอุณหภูมิและปริมาณเกลือที่ผสมในน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งในเปลือกหอยเป็นตัววัด จึงยากต่อการสรุปผลออกมาในตอนนั้น ทำให้ฟอสซิลเปลือกหอยถูกเก็บเข้าตู้
จนกระทั่งคุณ Petersen สามารถคิดค้นเทคนิคใหม่ขึ้นมาได้ โดยเทคนิคใหม่นี้ช่วยวิเคราะห์ชนิดโมเลกุลของคาร์บอนในเปลือกหอย ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับอุณหภูมิของน้ำในช่วงที่ชั้นของเปลือกหอยบางชั้นถูกสร้างขึ้น
ดังนั้น จึงเป็นครั้งเเรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาระดับอุณหภูมิในช่วงที่ไดโนเสาร์ใกล้สาบสูญจากโลก และนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าจากหลักฐานเกี่ยวกับอุณหภูมิที่ได้ ชี้ว่าโลกร้อนขึ้นถึงสองเท่าตัวในตอนนั้น เรียกได้ว่าเป็น "ภาวะโลกร้อนในยุคโบราณ"
คุณ Peterson อธิบายว่า หลักฐานชี้ระดับอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในช่วงที่ภูเขาไฟ Deccan Traps ในอินเดียระเบิด และเมื่อลูกอุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลก ระดับอุณหภูมิโลกก็เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ถือเป็นเหตุการณ์แบบผีซ้ำด้ำพลอย
เพราะหลังจากไดโนเสาร์เจอกับสภาพฝนกรด ฝุ่นผงอันตรายจากภูเขาไฟระเบิด มันต้องประสบกับสภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นเท่าตัวหลังลูกอุกกาบาตพุ่งชนโลกซ้ำเติมรอบสอง
คุณ Andrea Dutton ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัย Florida อธิบายว่า สัตว์และพืชเคยประสบกับสภาพที่อุณหภูมิร้อนมากขึ้นมาก่อนหน้านี้ในช่วงยุคครีเทเชียส แต่หลังจากลูกอุกกาบาตพุ่งชนโลก อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนพืชและสัตว์ปรับตัวไม่ทัน
คุณ Dutton เน้นย้ำว่า ทีมนักวิจัยไม่ได้ชี้ว่าอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้พืชเเละสัตว์ในยุคนั้นล้มตาย แต่มีส่วนให้สถานการณ์เลวร้ายลง และอาจมีส่วนให้เกิดการสาปสูญของไดโนเสาร์
อย่างไรก็ดี คุณ Petersen สมาชิกทีมวิจัยชี้ว่า เราควรใส่ใจในผลการศึกษาของทีมงานครั้งนี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศโลกอย่างรวดเร็วในยุคครีเทเชียส มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
เธอกล่าวว่าเหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ที่ตามมาด้วยลูกอุกกาบาตพุ่งชนโลก มีผลกระทบรุนแรงต่อสภาพเเวดล้อมในยุคครีเทเชียส เช่นเดียวกับที่แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมีผลต่อสิ่งเเวดล้อมในยุคปัจจุบัน ซึ่งเราได้เห็นการสาบสูญของสัตว์บางชนิดไปแล้ว และยังมีผลกระทบต่อสภาพเเวดล้อมอย่างมาก
และเธอหวังว่าเราจะไม่เจอกับเหตุการณ์ลูกอุกกาบาตพุ่งชนโลกซ้ำอีกในอนาคต!
(รายงานโดย JoEllen McBride / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)