นักวิจัยที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์รัฐเท็กซัสเก็บข้อมูลพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมประเภท Diet จากกลุ่มตัวอย่าง 474 คน อายุระหว่าง 65-74 ปีเป็นเวลาราว 10 ปี พบว่าผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมประเภท Diet มากกว่า 2 แก้วหรือ 2 กระป๋องต่อวันจะมีรอบเอวขยายหรืออ้วนขึ้นราว 70% เทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มน้ำอัดลม ซึ่งสอดคล้องกับรายงานเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่ว่าน้ำอัดลมประเภท Diet อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
รายงานฉบับเมื่อ 6 ปีก่อนระบุไว้ว่า โดยเฉลี่ยผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมประเภท Diet วันละ 1 แก้วจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 7-8 ปีข้างหน้าราว 65% และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วน 41% โดยอัตราความเสี่ยงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณเครื่องดื่มประเภท Diet ที่ดื่มในแต่ละวัน
ผลการศึกษาเมื่อ 3 ปีที่แล้วชี้ว่า แม้คนบางคนอาจไม่สามารถใช้ลิ้นแยกความแตกต่างระหว่างสารให้ความหวานในเครื่องดื่มประเภท Diet กับน้ำตาลธรรมดาได้ แต่สมองของคนเรารับรู้ความแตกต่างนั้นได้เป็นอย่างดี โดยผลการตรวจ MRI Scan แสดงให้เห็นว่าสมองมนุษย์ตอบสนองในลักษณะพึงพอใจต่อน้ำตาลจริงมากกว่าน้ำตาลเทียม นั่นหมายความว่าเมื่อสมองยังไม่พึงพอใจต่อน้ำตาลเทียม ก็มีแนวโน้มที่สมองจะสั่งการให้รับประทานอาหารอื่นเพิ่มขึ้นอีกเพื่อสนองความต้องการให้สมบูรณ์ เช่นพวกอาหารขบเคี้ยวหรืออาหารหวานอื่นๆ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัวแล้ว รายงานบางชิ้นยังชี้ว่าเครื่องดื่มประเภทไม่ผสมน้ำตาลยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคที่เกี่ยวกับกระบวนการเผาผลาญอาหาร ซึ่งอาจมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล และระดับไขมันรอบเอวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการบางคนเห็นว่าการดื่มเครื่องดื่มประเภท Diet วันละ 1-2 กระป๋องนั้นอาจไม่ส่งผลร้ายต่อร่างกายมากนักเทียบกับน้ำอัดลมธรรมดา และยังไม่มีรายงานว่าสารให้ความหวานหรือสารเคมีอื่นๆในเครื่องดื่ม Diet เป็นอันตรายหรือเป็นสารก่อมะเร็งดังที่หลายคนเชื่อแต่อย่างใด
ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่าเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าการดื่มเครื่องดื่มประเภท Diet นั้นสมควรหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการดื่มมากกว่า คือถ้าดื่มเพื่อทดแทนน้ำอัดลมธรรมดาสำหรับผู้ที่ขาดน้ำอัดลมไม่ได้นั้น จะดีกว่าการใช้เครื่องดื่ม Diet เป็นข้ออ้างเพื่อที่จะสามารถทานร่วมกับอาหารไขมันสูงอื่นๆ เช่นมันฝรั่งทอด แฮมเบอร์เกอร์หรือคุ้กกี้ และที่สำคัญคือพึงระลึกไว้เสมอว่าไม่ว่าความหวานในเครื่องดื่มนั้นจะมาจากน้ำตาลจริงหรือน้ำตาลเทียม ต่างเป็นสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย