'โซเชียลมีเดีย' ต้านข้อมูลผิด ๆ จากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้หรือไม่?  

Social Media Fake Activity

ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ ได้สัญญาว่าจะจัดการกับข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียพบว่า มาตรการของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ยังไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับข้อมูลเท็จ หรือการบิดเบือนข้อเท็จจริง ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี (Associated Press)

บททดสอบของโซเชียลมีเดียเริ่มขึ้นในเช้าวันพุธที่ 4 พ.ย. ในขณะที่ยังมีการนับบัตรคะแนนในรัฐสมรภูมิอย่าง วิสคอนซิน มิชิแกน และเพนซิลวาเนีย เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์​ ทรัมป์ แถลงที่ทำเนียบขาว อ้างถึงข้อมูลที่ผิด ๆ เกี่ยวกับผลการนับคะแนน และยังได้โพสท์ข้อความที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้งบนเฟสบุ๊กและทวิตเตอร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้พยายามบั่นทอนความน่าเชื่อถือของการลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ และแสดงออกชัดเจนว่าตนต้องการให้ได้ผลการเลือกตั้งเมื่อมีการปิดคูหาเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย.

U.S. President Trump speaks to reporters about the 2020 presidential election at the White House in Washington

สิ่งที่บริษัทโซเชียลมีเดียเหล่านี้ทำ คือการทำแถบคำเตือนบนโพสท์ที่ผิด ๆ หรือโพสท์ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อเตือนผู้อ่าน บางครั้งคำเตือนของทวิตเตอร์บดบังโพสท์เดิม ทำให้ผู้รับสารต้องคลิกคำเตือน ก่อนที่จะเห็นโพสท์จริง ทำให้สามารถแชร์ได้น้อยลง

ด้าน ทิคทอค (TikTok) แอพวีดีโอยอดนิยมของเยาวชนคนหนุ่มสาว รายงานว่าในวันพุธ บริษัทได้ถอดวีดีโอจากแอคเคานท์ของผู้ใช้ที่ทรงอิทธิพล ที่อ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนเฟสบุ๊กและยูทูบ ได้แนบข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลทางการบนโพสท์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือมีการแนบข้อมูลใต้วีดีโอในยูทูป ว่าผลการเลือกตั้งยังไม่สิ้นสุด และแนบลิงค์ไปยังหน้าผลการเลือกตั้งและข้อมูลอื่น ๆ

“เราได้เห็นสิ่งที่เราหวังว่าจะได้เห็น แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกรณีของเฟสบุ๊ก” แชนนอน แม็คเกรเกอร์ (Shannon McGregor) ผู้ช่วยศาสตาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา (University of North Carolina) กล่าวกับสำนักข่าวเอพี

แม็คเกรเกอร์ยังกล่าวโทษ สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียที่ไม่ทำหน้าที่ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด ๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง แต่กลับเลือกที่จะถ่ายทอดสิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ พูด ที่เป็นข้อมูลเท็จ ปธน. ทรัมป์ ไม่ใช่ผู้เดียวที่โพสท์ในโซเชียลมีเดียได้รับคำเตือน แต่ยังรวมถึงสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกัน และเจ้าหน้าที่พรรคเดโมแครตที่ประกาศชัยชนะของโจ ไบเดน ก่อนการนับคะแนนสิ้นสุดลง

Trump twitter feed and warning labels

ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียมองว่า ทวิตเตอร์และเฟสบุ๊ก มาถูกทางแล้วในการที่จะจัดการกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด ๆ แต่มาตรการเหล่านั้นยังไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร

เจนนิเฟอร์ กรายจีล (Jennifer Grygiel) ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ (Syracuse University) และผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย มองว่าทวีตจากบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม อย่าง ทรัมป์ กระจายไปอย่างรวดเร็วทันทีที่มีโพสท์ไป แต่โซเชียลมีเดียเหล่านี้ต้องใช้เวลาหลายนาทีกว่าที่จะมีการออกแถบคำเตือน ซึ่งถึงตอนนั้น ข้อมูลผิด ๆ หรือข้อมูลที่บิดเบือนก็ได้กระจายออกไปอย่างแพร่หลายแล้ว เธอพบกว่าบางทวีตของทรัมป์ที่ให้ข้อมูลผิด ไม่ถูกแนบคำเตือนจนกระทั่งผ่านไปถึง 15 นาที

ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียผู้นี้มองว่า ทวิตเตอร์ควรจะตรวจสอบการโพสท์หรือการทวีตของบุคคลสำคัญอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ โดยการชะลอการเผยแพร่ หรือการโพสท์ออกไปจนกว่าจะมีผู้ตรวจสอบเช็คเสียก่อนว่า ทวีตหรือโพสท์ดังกล่าวจำเป็นต้องโพสท์ควบคู่ไปกับคำเตือนหรือไม่ นั่นจะทำให้ทวีตที่มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกมาพร้อม ๆ กับคำเตือน และจะทำให้การแพร่กระจายของข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่บิดเบือนทำได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญอย่างการเลือกตั้ง

“โดยรวมแล้ว โซเชียลมีเดียแต่ละแห่งมีนโยบายที่จะพยายามทำอะไรบางอย่าง แต่ในท้ายที่สุดแล้วนโยบายเหล่านั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ และนั่นทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รู้สึกว่าเขาจะอ้างอะไรก็ได้” กรายจีลกล่าว