นักวิจัยอังกฤษพัฒนาวิธีการตรวจเบาหวานประเภทที่หนึ่งด้วยเครื่องตรวจลมหายใจแบบพกพา

  • George Putic

Breath Test

ทีมนักวิจัยอังกฤษชี้ว่าอุปกรณ์วิเคราะห์ลมหายใจแบบพกพามีความไหวสูงในการตรวจหากลิ่นหวาน acetone ในลมหายใจผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่หนึ่ง

Your browser doesn’t support HTML5

Diabetes Breath Test

ผู้เชี่ยวชาญประมาณว่ามีเด็กเป็นเบาหวานประเภทที่หนึ่งมากถึงปีละ 80,000 คน โรคในกลุ่มต้านภูมิตนเองนี้อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการบำบัด ดังนั้นการพบโรคแต่เนิ่นๆจึงมีความสำคัญอย่างมาก

ศาสตราจารย์ Gus Hancock ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีแห่งมหาวิทยาลัย Oxford University Emeritus กล่าวว่าอาการข้างเคียงอย่างหนึ่งของโรคเบาหวานประเภทที่หนึ่งคือลมหายใจที่มีกลิ่นหวาน ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของสารเคมีที่เรียกว่า ketones ในกระเเสเลือดของผู้ป่วย

เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่ากลิ่นหวานที่ออกมากับลมหายใจของผู้ป่วยเกิดจากสารเคมี ketones และเรียกว่า acetone และบรรดาแพทย์ได้ใช้การดมกลิ่นหวานชนิดนี้ในลมหายใจของผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่หนึ่งเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคกันอยู่แล้ว

ทีมนักวิจัยอังกฤษทีมนี้เปิดเผยว่าได้พัฒนาอุปกรณ์วิเคราะห์ลมหายใจแบบพกพาที่มีความไหวสูงในการตรวจหากลิ่นหวาน acetone โดยสามารถตรวจจับได้แม้จะมีเพียงปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น

ทางด้านนาย Ian Campbell ประธานบริหารแห่ง Oxford Medical Diagnostic กล่าวว่าการตรวจหาเบาหวานประเภทที่หนึ่งด้วยการวิเคราะห์ลมหายใจทำได้ยากเพราะลมหายใจมีโมเลกุลของสารเคมีต่างๆหลายล้านชนิดปะปนอยู่ ในขณะที่อุปกรณ์นี้ต้องตรวจหาสารเีพียงชนิดเดียว

เขากล่าวว่าในการตรวจลมหายใจ ผู้ป่วยต้องเป่าลมเข้าไปในอุปกรณ์ ผู้ตรวจทำการคัดเอาเฉพาะสารเคมีชนิดที่ต้องการตรวจเพียงตัวเดียว ในกรณีคือ acetone หลังจากนั้นก็จะปล่อยลมหายใจที่เหลือออกจากตัวอุปกรณ์และนำโมเลกุลของสาร acetone ไปตรวจวัดระดับ

ศาสตราจารย์ Hancock ที่ร่วมมือในการพัฒนาอุปกรณ์นี้ กล่าวว่า เครื่องมือวิเคราะห์ลมหายใจแบบเดียวกันนี้มีใช้กันอยู่แล้วแต่มีขนาดใหญ่และหนักกว่ามาก

ทีมนักวิจัยทีมนี้ชี้ว่าเครื่องมือวิเคราะห์ลมหายใจตัวใหม่นี้ น่าจะพร้อมให้แพทย์นำไปใช้งานได้ภายในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ในขณะอุปกรณ์แบบเดียวกันที่มีขนาดเล็กกว่าที่เหมาะกับการใช้งานส่วนบุคคลจะออกมาสู่ตลาดในภายหลัง

อย่างไรก็ตามพวกเขากล่าวว่าเครื่องมือวิเคราะห์ลมหายใจนี้ควรจะใช้เป็นเพียงอุปกรณ์วินิจฉัยโรคเบื้องต้นเท่านั้นและควรมีการตรวจเลือดอย่างเหมาะสมเพื่อรับรองการวินิจฉัยโรคอีกครั้ง