สำนักข่าว Associated Press รายงานว่า นักวิจัยได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการใช้คลื่นสมองของชายคนหนึ่งที่เป็นอัมพาตและไม่สามารถพูดได้ มาช่วยนำสิ่งที่เขาอยากพูดให้ออกมาเป็นข้อความบนหน้าจอคอมพิวเตอร์
มีการเปิดเผยผลการศึกษาดังกล่าวในวันพุธที่ผ่านมา และถือเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในการฟื้นฟูความสามารถในการสื่อสารของผู้ที่ไม่สามารถพูดได้ อันเกิดจากความเจ็บป่วยหรือการได้รับบาดเจ็บ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการค้นคว้าวิจัยต่อไป
ดร.เอ็ดเวิร์ด ชาง (Edward Chang) ศัลยแพทย์ระบบประสาทแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (University of California San Francisco) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมศึกษาทดลองครั้งนี้ กล่าวว่าเขารู้สึกตื่นเต้นกับการทดลองครั้งนี้ คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไป ว่ามนุษย์เราสามารถสื่อสารด้วยการพูดได้อย่างง่ายดาย จนกระทั่งสูญเสียความสามารถนั้นไป
ปัจจุบันนี้ ผู้ที่ไม่สามารถพูดหรือเขียนได้เพราะเป็นอัมพาต มีไม่กี่หนทางในการที่จะสื่อสารกับผู้อื่น ผู้ชายนิรนามที่เข้าร่วมในการทดลองครั้งนี้ เคยใช้พอยน์เตอร์ หรืออุปกรณ์ช่วยชี้ติดไว้กับหมวกที่สวมใส่ และใช้วิธีเคลื่อนไหวศีรษะ เพื่อชี้คำศัพท์ หรืออักษรแต่ละตัวบนจอ ในขณะที่บางคนใช้อุปกรณ์อ่านการเคลื่อนไหวของลูกตา แต่วิธีเหล่านี้เป็นวิธีที่ช้าและจำกัด ซึ่งสร้างความอึดอัดคับข้องใจให้กับผู้มีอาการอัมพาตที่ต้องการสื่อสารกับคนอื่น
การใช้สัญญาณจากคลื่นสมองเพื่อช่วยผู้คนที่มีความบกพร่องทางร่างกายกำลังเป็นสาขาวิชาที่ได้รับความสนใจอย่างมาก
ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การทดลองนำคลื่นสมองไปใช้ควบคุมอวัยวะเทียม ช่วยทำให้คนที่เป็นอัมพาตสามารถจับมือทักทาย หรือยกเครื่องดื่มขึ้นดื่มโดยใช้แขนเทียมได้ พวกเขาเพียงแค่ต้องจินตนาการถึงการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนนั้น แล้วคลื่นสมองก็จะส่งสัญญาณไปยังคอมพิวเตอร์ในอวัยวะเทียมและทำให้เกิดการเคลื่อนไหว
ทีมงานของ ดร.ชาง ใช้ข้อมูลจากงานทดลองก่อน ๆ เพื่อสร้างเครื่องมือที่เรียกว่า “ประสาทเทียมของการพูด” เพื่อใช้ในการถอดรหัสคลื่นสมองที่ปกติทำหน้าที่ควบคุมช่องเสียง กล้ามเนื้อเล็ก ๆ ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของริมฝีปาก กราม ลิ้น และกล่องเสียง ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถออกเสียงสระและพยัญชนะได้
ส่วนผู้ชายที่เป็นอาสาสมัครในการทดลองนี้ เป็นชายในวัยสามสิบปลายๆ ที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองเมื่อ 15 ปีก่อน ทำให้เขาเป็นอัมพาตและไม่สามารถพูดได้อีกต่อไป ในการทดลอง นักวิจัยได้ฝัง อิเล็กโทรด หรือขั้วไฟฟ้าบนพื้นผิวสมองของเขา บริเวณที่ทำหน้าที่ควบคุมการพูด
จากนั้น คอมพิวเตอร์ได้ทำการวิเคราะห์ เมื่อเขาพยายามจะพูดคำทั่ว ๆ ไปออกมา เช่นคำว่า “น้ำ” หรือ “ดี” จนกระทั่งสามารถรวบรวมรูปแบบคลื่นสมอง และแตกย่อยออกมาเป็น 50 คำ ที่นำไปสร้างประโยคได้มากกว่า 1,000 ประโยค
เมื่อเขาถูกถามว่า “วันนี้คุณเป็นยังไงบ้าง” หรือ “คุณหิวน้ำไหม” เครื่องมือที่ฝังอยู่บนสมองของชายคนนี้ก็จะช่วยให้เขาตอบได้ว่า “ผมสบายดี” หรือ “ไม่ ผมไม่หิวน้ำ” โดยไม่ได้เปล่งเสียงออกมา แต่จะเป็นการแปลงออกมาเป็นข้อความบนหน้าจอ ตามการรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine
เดวิด โมเสส (David Moses) วิศวกรคนหนึ่งในแล็บของ ดร.ชาง กล่าวว่า จะใช้เวลาประมาณ 3-4 วินาที ก่อนที่ข้อความที่ผู้ชายคนดังกล่าวต้องการสื่อสารจะปรากฎบนจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ได้เร็วเท่าเวลาที่มนุษย์เราใช้ในการพูด แต่เร็วกว่าการพิมพ์อักษรทีละตัวเพื่อสื่อสาร
ด้าน ลีห์ ฮอชเบิร์ก (Leigh Hochberg) และซิดนีย์ แคช (Sydney Cash) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตีพิมพ์บทบรรณาธิการในวารสารฉบับเดียวกัน โดยเรียกการทดลองดังกล่าวว่าเป็น “การทดลองชิ้นบุกเบิก”
ทั้งสองคนได้เสนอแนะแนวทางพัฒนาการทดลอง และให้ความเห็นว่าหากเทคโนโลยีนี้ใช้ได้ผลในวงกว้าง ก็จะสามารถนำไปช่วยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือเป็นโรคอื่น ๆ ที่สมองยังทำงานเพื่อเตรียมถ้อยคำที่จะพูด แต่ร่างกายไม่สามารถนำข้อความเหล่านั้นออกมาได้
ในการทำให้แน่ใจว่า เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง สามารถตีความสิ่งที่ชายอาสาสมัครต้องการพูดได้อย่างถูกต้อง ทีมงานเริ่มโดยการให้เขาพูดประโยคเฉพาะออกมา เช่น “ช่วยเอาแว่นตามาให้ผมหน่อย” มากกว่าจะให้เขาตอบคำถามแบบปลายเปิด และได้ทดลองทำแบบนี้จนเครื่องมือสามารถถอดรหัสทุกถ้อยคำได้อย่างถูกต้อง
รายงานระบุว่าขั้นตอนต่อไปคือการพัฒนาความเร็ว ความถูกต้อง และคลังคำศัพท์ของเครื่องมือชนิดนี้ และในอนาคตอาจจะสามารถทำให้ข้อความออกมาเป็นข้อความเสียง มากกว่าจะเป็นตัวหนังสือบนจอ ซึ่งต่อจากนี้จะมีการนำไปทดลองกับอาสาสมัครมากขึ้น