Your browser doesn’t support HTML5
แม้เเต่อากาศในทะเลทรายที่แห้งที่สุดก็มีความชื้นอยู่ แต่ปัญหาคือเราจะสกัดเอาน้ำในอากาศในทะเลทรายได้อย่างไร?
ยูจีน คาพูสติน (Eugene Kapustin) นักศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลี่ย์ อธิบายว่า อุปกรณ์ที่หน้าตาเหมือนกล่องกำลังสกัดน้ำจากอากาศในทะเลทราย ส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์นี้คือผงที่ใช้ เเละผงนี้มีโครงสร้างทางโมเลกุลที่มีคุณสมบัติที่น่าทึ่ง
คาพูสติน กล่าวว่า ภายในกล่องนี้มีพื้นที่ว่างซึ่งเต็มไปด้วยโมเลกุลของเเก๊ส อาทิ ละอองระเหยของน้ำที่เข้าไปอยู่ภายในเเละไม่กลับออกมา อุปกรณ์นี้จึงทำหน้าที่เหมือนกับฟองน้ำ
เมื่อนำกล่องนี้ไปวางไว้ในทะเลทรายข้ามคืนเพื่อดูดซับเอาความชื้น หลังจากนั้น นักวิจัยนำอุปกรณ์ไปใส่ไว้ภายในกล่องที่ทำจากแผ่นอะคริลิค (plexiglass) เเละนำไปวางไว้ใต้แสงอาทิตย์
ฟาร์ฮาด ฟาทีเอห์ นักศึกษาปริญญาโทแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลี่ย์ บอกว่า ในขณะที่แสงอาทิตย์ทำให้ผงที่อยู่ในอุปกรณ์ร้อนขึ้น น้ำก็จะเริ่มระเหยออกมาจากกล่อง เเละหยดน้ำจะติดอยู่บนกล่องอะคริลิคที่คลุมอุปกรณ์อยู่ชั้นนอก
นักวิจัยกล่าวว่า จะเริ่มเห็นหมอกน้ำเริ่มออกมาเกาะตัวบนผนังกล่องอะคริลิคภายในเวลาครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง เเละเริ่มมากขึ้น เเละกลายเป็นหยดน้ำ เมื่อหยดน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นและหนักขึ้น ก็จะหยดและตกลงไปที่ก้นกล่องที่ใช้รองรับน้ำที่ผลิตได้และสิ่งที่ได้ออกมาคือน้ำดื่มสะอาด
ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ผงหนึ่งกิโลกรัมใช้ผลิตน้ำได้ได้ประมาณ 175 มิลลิลิตร หรือราวหนึ่งแก้วเล็กๆ และกล่องที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะผลิตน้ำได้มากขึ้นตามไปด้วย ขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังหาทางเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำ
โอมาร์ ยาคี (Omar Yaghi) อาจารย์ด้านเคมีที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลี่ย์ กล่าวว่าอุปกรณ์ที่มีดีไซน์ที่เเสนเรียบง่ายนี้ มีข้อดีเพราะไม่ต้องพึ่งกระเเสไฟฟ้า อุปกรณ์นี้ใช้งานได้ทันทีโดยพึ่งเเค่เเสงอาทิตย์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเลย สามารถใช้งานได้ในทะเลทรายที่ไม่มีแหล่งพลังงานอื่นๆ นอกเหนือไปจากเเสงอาทิตย์
ทีมงานได้นำอุปกรณ์นี้ไปทดสอบหลายครั้งในทะเลทรายที่รัฐอาริโซน่าเเละพบว่าอุปกรณ์ทำงานมีประสิทธิผลมากที่สุด หากหันกล่องไปทางพระอาทิตย์ตรงๆ เเละคลุมรอบๆ ด้วยดิน
อาจารย์ยาคีกล่าวว่า อุปกรณ์นี้น่าจะออกมาสู่ตลาดให้คนได้ใช้กันภายใน 2 – 3 ปี
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)