สมบัด สมพอน นักพัฒนาสังคมและนักเคลื่อนไหวชาวลาว ผู้ทำงานช่วยเหลือเกษตรกรยากจนในประเทศลาว หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในกรุงเวียงจันทน์ เมื่อเย็นวันที่ 15 ธันวาคม ปีค.ศ. 2012
ภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นสมบัดถูกเรียกให้ลงจากรถยนต์ของเขาที่ด่านตำรวจแห่งหนึ่งแล้วถูกนำตัวไปขึ้นรถกระบะคันหนึ่งที่พาตัวเขาหายไป
10 ปีผ่านไป เอง ซุย เม็ง ภรรยาของสมบัด ยังคงพยายามหาคำตอบของการหายตัวไปของสามีของเธอจากรัฐบาลลาว แต่ก็ไม่มีเสียงตอบกลับมา ซึ่งยิ่งเป็นการขับเน้นปัญหา "การหายตัวโดยถูกบังคับ" ของนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมหลายร้อยคนในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สหประชาชาติให้คำจำกัดความ "การหายตัวโดยถูกบังคับ" ว่าเป็นการถูกจับกุม คุมขัง หรือลักพาตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ที่ถูกจ้างวานมา ซึ่งรัฐบาลนั้นปฏิเสธการรู้เห็นหรือไม่ยอมเปิดเผยชะตากรรมของผู้ที่ถูกบังคับให้หายตัวไป
ซุย เม็ง ภรรยาของสมบัด เล่าให้วีโอเอฟังว่า เจ้าหน้าที่ทางการลาวไม่ยอมพบและคุยกับเธอเรื่องคดีของสามีมาตั้งแต่ 5 ปีก่อน ความจริงที่เธอต้องการรู้คือสามีของเธออยู่ที่ไหน? เกิดอะไรขึ้นกับเขา? และเขาทำผิดอะไร? 10 ปีที่ผ่านมาเธอมีชีวิตอยู่โดยที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย ซึ่งทำให้เธอทุกข์ทรมานใจอย่างสาหัส
สมบัด สมพอน เกิดที่ประเทศลาวและได้ทุนเรียนต่อที่สหรัฐฯ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาเกษตรกรรมที่มหาวิทยาลัยรัฐฮาวาย และกลับมาทำงานช่วยเหลือชาวนาในการพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ด้านเกษตรกรรมเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น
เมื่อปีค.ศ. 2001 สมบัดได้รับรางวัลนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จากสหประชาชาติ และได้รับรางวัลแมกไซไซด้านผู้นำชุมชนในอีก 4 ปีต่อมา
ก่อนจะหายตัวไป สมบัดได้ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายที่ดินของรัฐบาลลาว ซึ่งทำให้หลายครอบครัวต้องไร้ที่อยู่อาศัยแลกกับเงินชดเชยเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลย
อังคณา นีละไพจิตร นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้หายตัวไปตั้งแต่ปีค.ศ. 2004 เช่นกัน กล่าวกับวีโอเอว่า ในกรณีของสมบัด ภาพจากกล้องวงจรปิดคือหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าเขาถูกนำตัวไป แต่การที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่มีข้อมูลหรือเบาะแสที่จะติดตามได้นั้น "เป็นเรื่องที่เสแสร้งและไม่โปร่งใส"
วีโอเอพยายามติดต่อไปยังตำรวจและโฆษกรัฐบาลลาวเพื่อสอบถามเรื่องนี้แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
หน่วยงานของยูเอ็นระบุว่า จนถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ มีเหตุการณ์หายตัวไปโดยถูกบังคับที่ยังไม่คลี่คลายจำนวน 1,303 คดีเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน
ในจำนวนนี้ราว 3 ใน 4 เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์และติมอร์ตะวันออกซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่เป็นคดีที่ย้อนหลังไปหลายสิบปีก่อน มีเพียงบรูไนและสิงคโปร์เพียงสองประเทศในอาเซียนที่ไม่มีรายงานคดีการถูกลักพาตัวในลักษณะนี้
อังคณากล่าวว่า ปัจจุบันเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วอาเซียน และตัวเลขที่ทางการแจ้งออกมานั้นเป็นเพียง "ยอดของภูเขาน้ำแข็ง" เพราะยังมีอีกหลายครอบครัวที่ไม่ต้องการแจ้งความเนื่องจากหวาดกลัวว่าจะตกอยู่ในอันตรายจากผู้ที่ลักพาตัวสมาชิกในครอบครัวของพวกเขาไป
เคเทีย ชิริซซี รองผู้แทนฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เชื่อว่า การสร้างความหวาดกลัวนี้คือหนึ่งในเหตุผลที่เจ้าหน้าที่รัฐยังคงใช้วิธีนี้
เธอกล่าวที่งานรำลึก 10 ปีการหายตัวไปของสมบัด สมพอน ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันอังคารว่า "รัฐบาลในแถบอาเซียนมักใช้วิธีดังกล่าวในการปิดปากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือผู้วิจารณ์รัฐบาล... เป็นการใช้ความกลัวส่งข้อความข่มขู่ไปถึงคนอื่น ๆ ที่กำลังลุกขึ้นมาเรียกร้องในประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจและความกังวลของประชาชน ซึ่งผู้ตกเป็นเหยื่อนั้นมีตั้งแต่นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน นักสิ่งแวดล้อม นักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผู้วิจารณ์รัฐบาล ไปจนถึงทนายความและผู้สื่อข่าว"
แต่ความกลัวมิได้ทำให้ภรรยาของสมบัด ยอมแพ้ในการตามหาสามี
สัปดาห์นี้ ซุย เม็ง ได้จัดงานรำลึกถึงวันครบรอบ 10 ปีที่สามีของเธอหายตัวไป พร้อมกับสร้างความตระหนักถึงปัญหาการถูกอุ้มหายของนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมจำนวนมาก เธอเดินทางไปพบกับนักการทูตต่างชาติหลายคน และเป็นผู้นำการเรียกร้องสิทธิพลเมืองหน้าสถานทูตลาวในกรุงเทพฯ
เธอยืนยันว่า เธอจะสวดภาวนาและมีความหวังต่อไปเหมือนกับครอบครัวของผู้ที่หายไปคนอื่น ๆ เป็นความหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้พบกับสามีอีกครั้ง และนั่นคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงเธอให้สามารถยืนหยัดมีชีวิตอยู่ได้จวบจนทุกวันนี้
- ที่มา: วีโอเอ