การเสียชีวิตของเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ทะลุวัง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทิ้งคำถามถึงชะตากรรมที่คลุมเครือของผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่ ในช่วงเวลาที่มีการหารือถึงการนิรโทษกรรมคดีเหล่านี้ แต่อาจไม่มีพวกเขาอยู่ในสมการ
ที่วัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งสุดท้ายของร่างไร้วิญญาณของนักกิจกรรมที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก่อนที่จะฌาปนกิจศพในวันที่ 19 พฤษภาคม ตามการประกาศของกลุ่มทะลุวังในช่องทางเฟซบุ๊ก
ในช่วงคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประชาชน นักการเมือง นักเคลื่อนไหว และภาคส่วนอื่น ๆ ส่งตัวแทนหรือพวงหรีดมาร่วมไว้อาลัยการจากไปในครั้งนี้
การอดอาหารที่ยาวนานกว่า 110 วัน จนนำมาซึ่งการสูญเสียครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งในจำนวนการใช้ร่างกายตนเองเพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐขณะที่ถูกคุมขังในคดีความที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง
ภูริณัฐ ชัยบุญลือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ศูนย์ทนายฯ) องค์กรที่ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง รวมถึงเนติพร ให้ข้อมูลว่า หลังการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2563 มีผู้ต้องขังใช้วิธีอดอาหารประท้วงอย่างน้อย 22 คน และอดนอนประท้วงอีก 4 คน โดยข้อเรียกร้องหลัก ๆ ที่มีคล้ายคลึงกันคือให้นักโทษคดีการเมืองทั้งหมดได้รับสิทธิประกันตัว และได้รับการปล่อยตัว และยังมีข้อปลีกย่อยทางการเมืองอื่น ๆ อีก เช่น ไม่ให้ไทยเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือการปรับปรุงสภาพการอยู่อาศัยในเรือนจำ
“เรื่องเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างที่ทุกคนรู้ แต่ผู้ต้องขังก็ยังต้องเรียกร้องอยู่เรื่อย ๆ มานานปี 64 65 66 67 ปีแล้วปีเล่า ข้อเรียกร้องพวกนี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางรูปธรรมจริง ๆ มันอาจจะมีการตอบรับในบางช่วงกับผู้ประท้วงในบางคนเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงภาพรวมโดยรูปธรรมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง” ภูริณัฐกล่าว
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่าปัจจุบันยังมีผู้ต้องขังจากการแสดงออกทางการเมืองอยู่อย่างน้อย 43 คน ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายฯ ร้องขอประกันตัวนักโทษการเมือง 27 คน เป็นจำนวนรวม 45 ครั้งในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน แต่ศาลไม่อนุญาตแม้แต่ครั้งเดียว
ภูริณัฐมีข้อสังเกตว่า การอดอาหารประท้วงได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมากในช่วงที่พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และเพื่อน ประกาศอดอาหารบางส่วนขณะถูกคุมขังเมื่อปี 2564 แต่ความสนใจค่อย ๆ ลดลง ก่อนที่จะกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งเมื่อมีการยกระดับโดยทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และอรวรรณ ภู่พงษ์ เมื่อปี 2566 ที่มีการอดอาหารและน้ำดื่มด้วย เรื่อยมาถึงการอดอาหารระลอกล่าสุดของทานตะวัน ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร มงคล ถิระโคตร และเนติพร ที่นำมาสู่การเสียชีวิตที่เกิดขึ้น
ถนนทุกสายมุ่งสู่นิรโทษกรรม?
ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (กมธ.นิรโทษกรรม) ที่มีชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน กำลังหารือและศึกษาแนวทางการให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีสมาชิกจากทั้งสภาผู้แทนราษฎร ภาคประชาชน ภาควิชาการ และผู้ต้องคดีจากความขัดแย้งในอดีตร่วมเป็นองค์คณะ
อย่างไรก็ตาม โอกาสในการได้รับนิรโทษกรรมของผู้ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันใน กมธ.
อังคณา นีละไพจิตร รองประธาน กมธ. คนที่หก ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยว่า กมธ. มีข้อตกลงร่วมกันได้แล้วในหลายฐานความผิดที่สามารถนิรโทษกรรม แต่คดีที่มีความอ่อนไหว ซึ่งรวมถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังไม่เห็นวี่แววที่จะได้ข้อสรุปว่าควรนับรวมเอาไว้ด้วย หรือแยกไปขอรับพระราชทานอภัยโทษเป็นกรณีต่างหาก
“กมธ. บางท่านจะพูดเลยว่าอันนี้ (ม.112) ยังไงก็ค้านตลอด ส่วนตัวมองว่าสุดท้ายคงต้องโหวต โหวตว่าจะเอาหรือไม่เอา เพราะว่าในบางประเด็น บางคนก็บอกว่าคงไม่ยอม” อังคณากล่าว และเพิ่มเติมด้วยว่า จากประสบการณ์การเป็นสมาชิก กมธ. ที่ผ่านมา ไม่ค่อยพบเห็นการหาข้อสรุปไม่ได้จนถึงขั้นต้องลงคะแนนเสียงโหวต
ข้อสรุปของ กมธ. เมื่อ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่าจะให้มีการนิรโทษกรรมแก่คดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่มีการระบุประเภทของคดี ตามการรายงานของบีบีซีไทย
ในทางกระบวนการ อังคณาเล่าว่า กมธ. จะทำผลการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมส่งไปทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเมื่อ ครม. เห็นชอบ ก็จะส่งให้รัฐสภาทำเป็น พ.ร.บ. และคาดว่าจะมีการประกาศใช้ภายในสิ้นปีนี้
ในวันพฤหัสบดี กลุ่มภาคประชาชนได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือกับ กมธ.นิรโทษกรรม เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของเนติพร ยกเลิกการดำเนินคดี และให้ประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมือง
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ร่วมยื่นหนังสือ กล่าวว่าภาคประชาชนยังคงเดินหน้าเรียกร้องทางประชาธิปไตยกันต่อไป และยืนยันว่าคดี ม.112 ควรได้รับการพิจารณาในการนิรโทษกรรม
“เราก็ยืนยันว่าจะต้องไม่ต้อนคนเข้าไปในเรือนจำเพิ่ม และ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวม ม.112 เข้าไปด้วย ถ้าหากไม่รวม ปัญหานี้ก็จะไม่จบไม่สิ้นอยู่ดี คนก็จะถูกเอาไปขังเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมันจะยิ่งสร้างความสูญเสียเพิ่มขึ้นไปกว่านี้หรือไม่ ซึ่งไม่มีใครที่อยากจะเจอความสูญเสียแบบนี้เพิ่มขึ้นอีกแล้ว”
อังคณาระบุว่า กมธ. ได้รับหนังสือร้องเรียนข้างต้นแล้ว และจะทำหนังสือไปถึงคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นการเร่งด่วนภายในวันจันทร์หน้า
สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตของเนติพรในทางรายละเอียดนั้น ยังคงต้องรอผลตรวจชันสูตรพลิกศพที่ได้ส่งห้องแล็บไปแล้ว
นพ.สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ กล่าวในการแถลงข่าวในวันพุธ ยืนยันว่าไม่มีสัญญาณอันตรายก่อนที่จะเกิดเหตุหัวใจหยุดเต้น และถือเป็นกรณีที่ “ไม่น่าจะเกิด” เพราะก่อนหน้านี้ก็อยู่ในสภาพพักฟื้นจากการอดอาหารเป็นเวลานาน และเริ่มกลับมารับประทานอาหารได้แต่น้อยแต่ยังปฏิเสธอาหารเสริมอยู่
ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์อธิบายว่า หากมีผู้ต้องขังที่แสดงเจตนารมย์อดอาหาร เรือนจำก็มีแนวปฏิบัติเพื่อรับมือและดูแล โดยในเบื้องต้นจะให้ทีมนักจิตวิทยาและแพทย์ตรวจร่างกาย และจะมีการโน้มน้าวขอให้เปลี่ยนใจ แต่หากยืนยันที่จะอดอาหารและอาการแย่ลงในเวลาต่อมา ก็จะนำส่งรักษาในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลแม่ข่าย และรักษาดูแลจนกว่าจะอยู่ในสภาพที่สามารถส่งตัวกลับไปยังทัณฑสถานได้
“น้อง (เนติพร) ก็ทำพินัยกรรมไว้ตั้งแต่แรกเลย เพราะความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ เป็นสิ่งที่เราไปแตะต้องอะไรไม่ได้เลย”
“ถ้าเขายังยืนยัน จนเกิดเหตุการณ์ร่างกายไม่ไหว ตรงนี้ทำได้เต็มที่ก็ส่งให้แพทย์รักษา ส่วนจะให้เขาเปลี่ยนใจอะไรมันก็ยาก แล้วถ้าร่างกายถึงจุด ๆ หนึ่งที่ไม่สามารถที่จะดูแลได้แล้ว มันก็ยาก ต่อให้แพทย์เทวดาก็ไม่สามารถจะช่วยอะไรได้” สมภพกล่าว
เอพีรายงานในวันพุธว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่เหลืออยู่ โดยเชื่อว่าทาง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นายกรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ได้ยินเสียงเรียกร้องมาแล้ว ซึ่งน่าจะกำลังพิจารณาและพูดคุยในวงการยุติธรรม และต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคน
- ข้อมูลเพิ่มเติม: เอพี, บีบีซีไทย, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน