ยอดเสียชีวิตจากไซโคลนโมคาพัดถล่มเมียนมา เพิ่มเป็น 41 คน

  • AFP

A girl walks past destroyed houses at Basara refugee camp in Sittwe on May 16, 2023, after cyclone Mocha made a landfall.

ผู้นำชุมชนในรัฐยะไข่ เมียนมา เปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากพายุไซโคลน โมคา (Mocha) เพิ่มเป็น 41 คนแล้วในวันอังคาร ในขณะที่เจ้าหน้าที่และประชาชนกำลังพยายามตรวจสอบและซ่อมแซมความเสียหายจากพายุไซโคลนลูกใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี

ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีในพื้นที่ประสบภัยรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 คนในหมู่บ้านบูมา และหมู่บ้านข่อง โดก คาร์ ซึ่งเป็นชุมชนของชาวมุสลิมโรฮีนจา โดยผู้นำชุมชนกล่าวว่า ยังคงมีผู้สูญหายมากกว่าร้อยคน โดยชาวบ้านจำนวนมากถูกคลื่นสูงซัดหายไปขณะที่กำลังเกิดพายุลูกใหญ่

ไซโคลนโมคาพัดเข้าชายฝั่งรัฐยะไข่ทางภาคตะวันตกของเมียนมาเมื่อวันอาทิตย์ ด้วยความเร็วลม 195 กม./ชม. ทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมแรงและคลื่นสูง ถือเป็นไซโคลนลูกใหญ่ที่สุดในรอบมากกว่า 10 ปี ทำลายบ้านเรือน ต้นไม้ และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ทั่วรัฐยะไข่

A local resident looks at broken boats in Sittwe, in Myanmar's Rakhine state, on May 15, 2023, after cyclone Mocha made a landfall.

เคราะห์ซ้ำชุมชนที่เปราะบาง

ภัยธรรมชาติครั้งล่าสุดถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ที่ซ้ำเติมกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปราะบางที่สุดในเมียนมา หลังจากที่ไม่กี่ปีก่อน ชาวมุสลิมโรฮีนจาถูกปราบปรามอย่างหนักจากทหารเมียนมา ทำให้ชาวโรฮีนจาหลายแสนคนต้องอพยพไปยังบังกลาเทศ

ชาวโรฮีนจาถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุกเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเมียนมา พวกเขาถูกปฏิเสธสถานะพลเมืองและไม่มีสวัสดิการทางการแพทย์ และห้ามเดินทางออกนอกเขตที่อยู่อาศัยในภาคตะวันตกของรัฐยะไข่หากไม่ได้รับอนุญาต

ชาวบ้านในหมู่บ้านบูมา กล่าวกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า จนถึงขณะนี้ยังคงไม่มีความช่วยเหลือมาถึง หลายคนไม่ได้กินอะไรมานานสองวัน ข้าวของและทรัพย์สินต่าง ๆ ถูกทำลายไปพร้อมกับพายุลูกนี้

Broken boats are piled up next to a brokken bridge in Sittwe, in Myanmar's Rakhine state, on May 15, 2023, after cyclone Mocha made a landfall. Cyclone Mocha made landfall between Cox's Bazar in Bangladesh and Myanmar's Sittwe carrying winds of up to 195 kilometres (120 miles) per hour, the biggest storm to hit the Bay of Bengal in more than a decade.

สำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า กำลังตรวจสอบรายงานความเสียหายของชุมชนชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ รวมทั้งที่ค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวพรมแดนบังกลาเทศที่ซึ่งมีชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่เกือบหนึ่งล้านคน ซึ่งสำนักงานของยูเอ็นบอกว่ากำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

องค์กร ClimateAnalytics ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พายุไซโคลนในมหาสมุทรอินเดียรุนแรงขึ้น โดยเมื่อเดือนที่แล้ว อุณหภูมิของพื้นผิวทะเลในอ่าวเบงกอลสูงขึ้นมากซึ่งส่งผลให้พายุมีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • ที่มา: เอเอฟพี