แม้รัฐบาลปักกิ่งจะร่วมมือกับหลายชาติเพื่อปราบแก๊งมิจฉาชีพจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะเครือข่ายอำนาจยังคงอยู่และดำเนินกิจการต่อได้
สำนักข่าวเอพีรายงานเรื่องราวของ จาง หงเหลียง อดีตผู้จัดการร้านอาหารในภาคกลางของจีน ที่ตกงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 แล้วถูกหลอกไปทำงานหลอกลวงคนทางอินเทอร์เน็ตที่เมียนมา ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในเหยื่อนับหมื่นราย ที่ถูกล่อลวงไปเป็นเครื่องมือให้กับแก๊งมิจฉาชีพ
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีปฏิบัติการร่วมกันของตำรวจประเทศจีน ไทย ลาว และเมียนมาเพื่อปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ในพื้นที่ และเมื่อ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนประกาศว่า “ปฏิบัติการฤดูร้อน (Summer Operation)” สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นมิจฉาชีพจากเมียนมากลับมายังจีนได้ 2,317 คน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบอกกับสำนักข่าวเอพีว่า การปราบปรามยังไม่สามารถถอนรากถอนโคนเครือข่ายของอาชญากรและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจเหล่านี้ เพราะเมื่อถูกปราบปราม แก๊งเหล่านี้ก็แก้ปัญหาด้วยการย้ายฐานปฏิบัติการไปอยู่ที่อื่นแทน
สาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่สามารถทำลายล้างเครือข่ายอาชญากรรมเหล่านี้ได้ เป็นเพราะการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องของผู้มีอิทธิพลในท้องที่ และการที่พื้นที่ปฏิบัติการอยู่ในจุดที่อำนาจรัฐเข้าถึงยาก ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปทำธุรกิจต้มตุ๋นในพื้นที่ชายแดนเมียนมาในจุดที่กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจมากกว่ารัฐบาลกลาง
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองด้วยว่า “ผู้ต้องสงสัย” ที่จีนนำกลับประเทศไปนั้น มีจำนวนมากที่เป็นเหยื่อที่ถูกหลอกไปทำงาน ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าเมื่อกลับไปจีนแล้วจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
เจสัน ทาวเวอร์ ผู้ทำงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติจากองค์กร United States Institute of Peace กล่าวว่าสำหรับจีน ถือเป็นเรื่องที่น่าอับอายอย่างมากที่มีอาชญากรจากประเทศตนเองอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอพีระบุว่า การไม่สามารถแก้ปัญหามิจฉาชีพได้อย่างแท้จริง ยังทำให้ชาวจีนไม่กล้าเดินทางมาท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากกลัวว่าจะถูกหลอกหรือลักพาตัวไปทำงานต้มตุ๋น
ตามการรายงานของเอพี ปฏิบัติการต้มตุ๋นเหล่านี้มีฐานปฏิบัติการกระจายตัวกันอยู่ในเมียนมา ลาว กัมพูชา โดยหัวหน้าชาวจีนจะร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และเปิดธุรกิจกันในพื้นที่ที่แหล่งทุนจากจีนให้การสนับสนุนการก่อสร้างภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)
อาชญากรเหล่านี้ทำงานโดยการหลอกลวงคนบนโลกออนไลน์ให้มาลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง หรือไม่ก็ตีสนิทในเชิงชู้สาวแล้วหลอกให้โอนเงินมาให้ มิจฉาชีพจะสร้างตัวละครบนโลกออนไลน์แบบปลอม ๆ ด้วยการใช้ภาพของคนรูปร่างหน้าตาดีหรือคนมีชื่อเสียง และสื่อสารกับเหยื่อผ่านโปรแกรมแปลภาษา
ในกรณีของจาง อดีตผู้จัดการร้านอาหาร เขาถูกคนที่ใช้นามสกุล เกา ชักชวนไปทำงานสอนทักษะให้กับคนครัวที่เมียวดี เมืองในเมียนมาที่อยู่ติดชายแดนไทย และสำทับว่าไม่มีการหลอกเขาไปเป็นมิจฉาชีพแน่นอน โดยขณะนั้นจางทำงานอยู่ที่ไทย และเดินทางไปยังลาวเพื่อต่อวีซ่า
จาง ที่กำลังต้องหาเงินสำหรับดูแลลูกที่อยู่ในท้องภรรยา จึงตัดสินใจเดินทางไปที่เมียวดี ก่อนจะพบว่าถูกหลอก เขาต้องเสียเงินค่าไถ่ตัว ที่เกาอ้างว่าเขาติดค้างอยู่จำนวน 40,000 หยวน (ราว 2 แสนบาท) ก่อนจะแอบข้ามแม่น้ำเมยมาหาตำรวจที่ประเทศไทย และถูกส่งตัวให้สถานทูตจีนในเวลาต่อมา
จางกลับถึงจีนช่วงปลายเดือนมิถุนายน ก่อนถูกตำรวจสอบปากคำและปล่อยตัวไป เขาแบ่งปันประสบการณ์ของเขาใน ‘โต่วอิน’ หรือแอปพลิเคชัน Tiktok ของชาวจีนเพื่อเป็นอุทธาหรณ์ และยังกล่าวด้วยว่า มีญาติของเหยื่อที่ถูกหลอกไปทำงานติดต่อเขามาอยู่บ่อย ๆ
- ที่มา: เอพี