ศูนย์มะเร็งในโอไฮโอ ปั้นโครงการคืนยา หวังช่วยคนเพิ่ม

Hospital Comes Up With a Way to Cut Costs Of Lifesaving Cancer Drugs

Your browser doesn’t support HTML5

Cut Costs Cancer Drugs

เทคนิคทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าช่วยให้ผู้ป่วยต่อสู้กับโรคมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น แต่นั่นก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงจนเป็นปัญหาต่อผู้ป่วยหลายราย ตอนนี้มีสถานพยาบาลในรัฐโอไฮโอ พยายามหาวิธีลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่ายาให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพในประเทศสหรัฐฯ ถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว เหตุนี้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีค่าใช้จ่ายที่สูงและสร้างปัญหาด้านการเงินอย่างมากหลังเสร็จสิ้นการรักษา

คุณ Tori Geib แม้เธอจะมีประกันสุขภาพชั้นดี แต่ในเวลาเพียงสามสัปดาห์หลังเธอถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง บริษัทประกันตัดสินใจยุติที่จะช่วยค่าใช้จ่ายสำหรับยารักษาโรค

โดยเธออธิบายถึงจำนวนเงินค่ายาที่จำเป็นต้องใช้ 11,000 ดอลล่าร์หรือราว 3 แสน 3 หมื่นบาทต่อเดือน

ซึ่งตัวเลขนี้ตรงกับค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการรักษาโรคมะเร็งในประเทศสหรัฐฯ แต่ในกรณีของคุณ Geib ยังมีค่ายาอื่นๆอีก 12 ชนิดที่เธอยังไม่ได้รวมไปในยอดดังกล่าว

ผู้ป่วยมะเร็งชาวอเมริกันหลายรายหาวิธีที่จะหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง

คุณ Julie Kennerly-Shah จากศูนย์ Ohio State University Comprehensive Cancer Center หรือ OSUCCC กล่าวว่า “หนึ่งในสี่ของผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพจากการหาทางลดค่า ใช้จ่าย เช่นไม่ยอมรับยาเพิ่มหรือลดจำนวนยาที่ใช้ในการรักษา”

เธออธิบายเพิ่มเติมให้วีโอเอฟังว่า “ทางศูนย์ได้ให้คำแนะนำกับผู้ป่วยกว่า 3 หมื่นคนเพื่อให้รู้จักการเข้าถึงทุนสนับสนุนหรือโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินจากบริษัทผู้ผลิตยา ซึ่งได้ช่วยผู้ป่วยไปแล้วมูลค่า 500 ล้านดอลล่าร์” หรือประมาณ 1 หมื่น 5 พันล้านบาท

ที่ศูนย์แห่งนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการเพื่อลดโอกาสการสูญเสียยาราคาแพง โดยจะรับคืนยาที่ไม่ได้ใช้จากผู้ป่วย

คุณ Kennerly-Shah บอกว่า “ยาที่คืนกลับมาจะถูกจัดเก็บไว้ โดยจะจ่ายให้กับผู้ป่วยคนอื่นที่มีข้อจำกัดด้านการเงินและต้องการยาชนิดเดียวกัน”

ในกรณีของคุณ Geib เธอบอกว่ารู้สึกซาบซึ้งกับคำแนะนำวิธีจัดการกับค่าใช้จ่าย สิ่งนี้ลดความเครียดของเธอลงอย่างมาก ซึ่งตรงกับความตั้งใจของศูนย์พยาบาลที่อยากช่วยให้ผู้ป่วยลดความกังวลและใส่ใจกับการรักษาตัวมากยิ่งขึ้น

ในอนาคตศูนย์ OSUCCC มีแผนที่จะขยายโครงการการรับคืนยาที่ไม่ได้ใช้ครอบคลุมโรคอื่นๆ โดยหวังว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบให้กับสถาบันด้านพยาบาลที่สนใจนำไปปรับใช้ และทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษามากยิ่งขึ้น