บริษัทในอิสราเอลได้รับอนุญาตเบื้องต้นจากกระทรวงสาธารณสุข ให้ขายเนื้อวัวที่ผลิตจากการเพาะเซลล์ในห้องแล็บเพื่อทำสเต็ก ถือเป็นก้าวย่างแรกของโลกสู่การจำหน่ายเนื้อวัวลักษณะนี้ ตามหลังเนื้อไก่ที่สหรัฐฯ เริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว
บริษัท อเลฟ ฟาร์ม จากเมืองราโฮเวท ประเทศอิสราเอล ระบุในแถลงการณ์ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้เดินหน้ากระบวนการผลิตเนื้อเพื่อจำหน่ายเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทั้งนี้ การประกาศอย่างเป็นทางการจากนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู เพิ่งมีขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
เนทันยาฮูระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็น “ความก้าวหน้าระดับโลก”
บริษัทระบุว่า มีแผนที่จะนำเนื้อที่พวกเขาเรียกว่า ‘เปอตีต์ สเต็ก (petite steak)’ ไปเสนอขายตามร้านอาหารในอิสราเอล โดยเนื้อดังกล่าวถูกทำขึ้นมาจากเซลล์ที่เกิดจากการผสมไข่ของวัวพันธุ์แองกัส ชื่อลูซี ที่อาศัยอยู่ที่ฟาร์มในรัฐแคลิฟอร์เนีย
โยอัฟ ไรส์เลอร์ จากอเลฟ ฟาร์ม กล่าวว่าพวกเขายังต้องผ่านการตรวจสอบขั้นสุดท้าย และได้รับอนุมัติฉลากของทางบริษัทเสียก่อน และหลังจากนั้น กว่าที่ผู้บริโภคจะได้ยลโฉมเนื้อดังกล่าวในร้านอาหารก็คงจะใช้เวลาอีกหลายเดือน
เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว บริษัทอัพไซด์ ฟูด และ กู๊ด มีท สองบริษัทในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เริ่มจำหน่ายเนื้อไก่ที่เพาะขึ้นจากเซลล์ในสหรัฐฯ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีบริษัทอีกมากกว่า 150 แห่งในโลกที่กำลังเดินหน้าบนเส้นทางการสร้างเนื้อจากเซลล์ในห้องแล็บ
กลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดนี้มองว่าการสร้างเนื้อจากการเพาะพันธุ์เซลล์จะช่วยลดความรุนแรงที่มนุษย์กระทำต่อสัตว์ และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม การผลิตเนื้อวิธีใหม่นี้ยังคงมีต้นทุนที่สูง และการผลิตให้ได้จำนวนมากเพื่อลดค่าการผลิตต่อหน่วยลงยังคงเป็นข้อท้าทายที่สำคัญ
เนื้อที่เกิดจากการเพาะพันธุ์เหล่านี้ ถูกผลิตขึ้นในถังเหล็กขนาดใหญ่ จากเซลล์ที่อาจมาจากไข่ของสัตว์ตัวเมียหรือเซลล์ที่ถูกเก็บไว้เป็นการเฉพาะ เซลล์ตั้งต้นนี้จะถูกผสมเข้ากับสารอาหารพิเศษเพื่อให้เติบโตขึ้นเป็นมวลเนื้อ ก่อนที่จะถูกตัดแต่งให้เป็นสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคคุ้นเคย
- ที่มา: เอพี