ทำความรู้จัก “สะพานไครเมีย” หลังเหตุโจมตีซ้ำสอง

Investigators work on the automobile span of the Crimean Bridge connecting Russian mainland with Crimea after traffic on the bridge was halted July 17, 2023, after reports of explosions. (Investigative Committee of Russia via AP)

รัสเซียสั่งปิดการจราจร หลังเกิด “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่สะพานไครเมียที่เชื่อมระหว่างรัสเซียและคาบสมุทรไครเมียในช่วงเช้าวันจันทร์ ตามข้อมูลของเซอร์เกย์ อัคซโยนอฟ หัวหน้าฝ่ายบริหารแคว้นไครเมียที่แต่งตั้งโดยรัสเซีย

สำนักข่าวอาร์บีซี-ยูเครนรายงานว่า มีเสียงระเบิดดังขึ้นบนสะพาน ขณะที่บล็อกเกอร์สายทหารของรัสเซียระบุว่าเกิดเหตุโจมตีสะพานขึ้นสองครั้ง โดยรอยเตอร์ยังไม่สามารถยืนยันข้อมูลดังกล่าวได้ และทางยูเครนยังไม่มีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สะพานไครเมียได้รับความเสียหายจากการระเบิด โดยทางการรัสเซียกล่าวว่า เหตุครั้งนี้เกิดจากรถบรรทุกระเบิดขณะข้ามสะพาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตสามคน ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ระบุว่า เหตุครั้งนี้เป็น “การโจมตีก่อการร้าย” โดยหน่วยงานความมั่นคงของยูเครน และสั่งให้มีการโจมตีโต้กลับในหลายพื้นที่ของยูเครน รวมถึงที่กรุงเคียฟ

หลายเดือนต่อมา ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน สื่อโดยนัยว่ายูเครนเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าว โดยระบุว่า เหตุโจมตีสะพานไครเมียเป็นหนึ่งใน “ความสำเร็จ” ของกองทัพบกยูเครนเมื่อปีที่แล้ว

รอยเตอร์รวบรวมข้อมูลสำคัญของสะพานไครเมียดังต่อไปนี้

Crimea bridge infographic

สะพานเชื่อมรัสเซีย แคว้นไครเมีย

สะพานไครเมียมีความยาว 19 กิโลเมตร ข้ามผ่านช่องแคบเคิร์ช และเป็นเส้นทางคมนาคมโดยตรงเพียงเส้นทางเดียวที่เชื่อมระหว่างรัสเซียกับแคว้นไครเมียที่รัสเซียผนวกจากยูเครนเมื่อปี 2014

สะพานดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการหลักของ ปธน.ปูติน โดยเขาขับรถบรรทุกข้ามสะพานแห่งนี้ด้วยตนเองในพิธีเปิดสะพานเมื่อปี 2018

ทั้งนี้ สะพานไครเมียประกอบด้วยทั้งถนนสำหรับยานยนต์และทางรถไฟ มีเสาคอนกรีตรองรับ มีโครงสร้างเหล็กโค้งรองรับอยู่ด้านบน และถูกออกแบบมาให้เรือสามารถล่องผ่านใต้สะพานระหว่างทะเลดำและทะเลอะซอฟได้

มีรายงานว่า สะพานไครเมียถูกสร้างด้วยงบ 3,600 ล้านดอลลาร์ โดยบริษัทของอาร์คาดี โรเทนเบิร์ก คนใกล้ชิดและอดีตคู่เล่นยูโดของ ปธน.ปูติน

สะพานไครเมียสำคัญอย่างไร?

สะพานแห่งนี้เป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมัน อาหาร และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ไปยังเมืองเซวาสโตโพลของแคว้นไครเมีย โดยเมืองดังกล่าวเป็นฐานทัพของกองเรือทะเลดำของรัสเซีย

สะพานไครเมียยังเป็นเส้นทางขนส่งปัจจัยที่สำคัญของกองกำลังรัสเซีย นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยรัสเซียส่งกองกำลังจากแคว้นไครเมีย เข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของแคว้นเคอร์ซอนทางตอนใต้ของยูเครน รวมถึงพื้นที่บางส่วนของแคว้นซาปอริซห์เชียด้วย

  • ที่มา: รอยเตอร์